(0)
รูปหล่อพระอาจารย์นำ วัดดอนศาลาสวยครับ








รายงานผลโหวต

จากรูปพระแท้ 0% [0]
จากรูปพระแท้แต่ข้อมูลไม่ถูกต้อง     0% [0]
จากรูปพระเก๊ 0% [0]
พระดูยากจากรูป 0% [0]

จำนวน โหวต



ชื่อพระเครื่องรูปหล่อพระอาจารย์นำ วัดดอนศาลาสวยครับ
รายละเอียดเปิดประวัติ พระอาจารย์นำ วัดดอนศาลา

ชื่อเสียงของ "ศิษย์" ในสายสำนักวัดเขาอ้อยังคงมีสืบสายต่อกันมาอย่างไม่ขาดระยะ แม้ว่าวัดดอนศาลาจะสิ้นพระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) ไปเมื่อปี พ.ศ. 2517 แต่ก่อนหน้านั้นในปี พ.ศ. 2506 ศิษย์ฆราวาสสายสำนักวัดเขาอ้อ นาม "นำ แก้วจันทร์" ก็ได้เดินทางสู่ร่มกาสาวพัสตร์

เป็นพระอาจารย์นำ ชินวโร ที่โดดเด่นยิ่ง ซึ่งหากกล่าวถึงการศึกษาร่ำเรียนในสายสำนักวัดเขาอ้อแล้ว พระอาจารย์นำ แก้วจันทร์ ก็เป็น "ศิษย์" ร่วมสมัยเดียวกับพระครูสิทธยาภิรัต (เอียด ปทุมสโร) แห่งวัดดอนศาลา และพระอาจารย์ปาล ปาลธัมโม แห่งวัดเขาอ้อ

เหนืออื่นใดพระอาจารย์นำ ชินวโร เป็นบุตรชายของพระอาจารย์เกลี้ยง แก้วจันทร์ ผู้เป็นศิษย์สำนักวัดเขาอ้อร่วมยุคพระครูสังฆพิจารณ์ฉัททันต์บรรพต (ทองเฒ่า)



พระอาจารย์เกลี้ยง แก้วจันทร์ เป็นศิษย์ร่วมอาจารย์เดียวกันกับพระครูสังฆพิจารณ์ฉัททันต์บรรพต (ทองเฒ่า) ผู้เป็นอาจารย์คือ พระอาจารย์เอียด เหาะได้ แห่งวัดดอนศาลา หากอาวุโสของพระอาจารย์เกลี้ยงอ่อนกว่าพระครูสังฆพิจารณ์ฉัททันต์บรรพต (ทองเฒ่า)

พระอาจารย์เกลี้ยง แก้วจันทร์ ได้บวชเรียนอยู่วัดดอนศาลาอยู่ระยะหนึ่ง แล้วลาสิกขาไปมีครอบครัวแต่งงานกับนางเอียดอยู่ที่บ้านดอนนูด ตำบลปันแต อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง แม้ว่าจะออกจากสำนักวัดเขาอ้อไปแล้ว แต่อาจารย์เกลี้ยงยังได้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ อยู่ เพราะว่าอาจารย์เกลี้ยงได้ถูกคัดเลือกให้เป็นศิษย์สายฆราวาสที่ต้องเป็นผู้ช่วยประกอบพิธีกรรมต่างๆ ร่วมกับพระครูสังฆพิจารณ์ฉัททันต์บรรพต (ทองเฒ่า) จนเมื่อนางเอียดได้เสียชีวิตอันเนื่องมาจากการคลอดบุตร อาจารย์เกลี้ยงซึ่งเข้าถึงความทุกข์ของการสูญเลียสิ่งอันเป็นที่รักจึงเกิดความคิดที่จะละเพศฆราวาสหันเข้าพระศาสนาอีกครั้งหนึ่ง

ต่อเมื่อทำการฌาปนกิจนางเอียดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อาจารย์เกลี้ยงจึงกลับสู่เพศบรรพชิตอีกครั้ง ด้วยความสนับสนุนของพระครูสังฆพิจารณ์ฉัททันต์บรรพต (ทองเฒ่า) ทว่าในการอุปสมบทครั้งนี้อาจารย์เกลี้ยงได้ปวารณาว่าจะขอใช้ชีวิตแบบพระธุดงค์ ท่องธุดงค์ไปทั่วไม่ผูกติดกับสถานที่ ส่วนบุตรชาย คือ เด็กชายนำ แก้วจันทร์ ขณะนั้นยังเด็กอยู่ พระครูสังฆพิจารณ์ฉัททันต์บรรพต (ทองเฒ่า) จึงรับไว้อุปการะ ทั้งนี้เพราะได้เล็งเห็นว่า เด็กชายนำคนนี้ ในอนาคตข้างหน้าจะต้องเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงเกียรติคุณโด่งดังและเป็นผู้สืบทอดมรดกวิชาของสำนักวัดเขาอ้อได้

จึงนอกเหนือจากรับไว้เป็นศิษย์แล้ว พระครูสังฆพิจารณ์ฉัททันต์บรรพต (ทองเฒ่า) ยังรับไว้ในฐานะของบุตรบุญธรรม

พระอาจารย์นำ ชินวโร เกิดเมื่อวันศุกร์ เดือน 9 (สิงหาคม) พ.ศ.2434 ที่บ้านดอนนูด ตำบลปันแต อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เมื่อผู้เป็นมารดาเสียชีวิต บิดาคือพระอาจารย์เกลี้ยงได้ก้าวล่วงสู่เพศบรรพชิตอีกครั้ง ตัวของพระอาจารย์นำ ชินวโร ในวัยเด็กอยู่ในความอุปการะของพระครูสังฆวิจารย์ฉัตรทันต์บรรพต (ทองเฒ่า) และได้ศึกษาร่ำเรียนอยู่ภายในสำนักวัดเขาอ้อ

ต่อมาเมื่อพระอาจารย์เกลี้ยง แก้วจันทร์ ได้ธุดงค์กลับมายังบ้านเกิด และได้พำนักอยู่บริเวณป่าช้าใกล้บ้าน พระอาจารย์นำ ชินวโร ซึ่งขณะนั้นยังเป็นฆราวาสและเติบใหญ่เป็นหนุ่มน้อยแล้ว ได้เดินทางไปมาหาสู่พระอาจารย์เกลี้ยง แก้วจันทร์ ภายใต้การสนับ สนุนของพระครูสังฆวิจารย์ฉัตรทันต์บรรพต (ทองเฒ่า) เพื่อให้นายนำได้ปรนนิบัติรับใช้ผู้เป็นบุพการี ระหว่างนั้นจึงต้องเทียวไปมาระหว่างสำนักวัดเขาอ้อ และที่พำนักของพระอาจารย์เกลี้ยง แก้วจันทร์
กล่าวสำหรับพระอาจารย์เกลี้ยง แก้วจันทร์ เมื่อทราบว่าบุตรชายได้ศึกษาวิชาขั้นพื้นฐานในสำนักวัดเขาอ้อมาแล้วพอที่จะถ่ายทอดวิชาต่างๆ เพิ่มเติมให้แก่บุตรชาย ซึ่งวิชาที่พระอาจารย์เกลี้ยง แก้วจันทร์ ได้ถ่ายทอดให้แก่นายนำในขณะนั้นเป็นวิชาในสายฆราวาสที่พระอาจารย์เกลี้ยง แก้วจันทร์ ได้รับการถ่ายทอดมาจากสำนักวัดเขาอ้อ

กล่าวได้ว่าพระอาจารย์นำ แก้วจันทร์ ก่อนจะบวชได้เรียนวิชาของสายสำนักวัดเขาอ้อทั้งในวิชาของสายฆราวาสจากพระอาจารย์เกลี้ยง แก้วจันทร์ ผู้เป็นบิดา และเรียนมาในสายบรรพชิตจากพระครูสังฆวิจารย์ฉัตรทันต์บรรพต (ทองเฒ่า) จึงนับว่าเป็นความโชคดียิ่งของนายนำ แก้วจันทร์ ที่ไม่มีศิษย์สายสำนักวัดเขาอ้อคนใดจะได้รับเช่นนี้



ในปี พ.ศ.2451 นายนำ แก้วจันทร์ มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุกับพระครูสังฆวิจารย์ฉัตรทันต์บรรพต (ทองเฒ่า) บวชเรียนอยู่ 6 พรรษา จึงลาสิกขา แล้วแต่งงานกับนางสาวพุ่ม ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านดอนนูด มีบุตรชายหญิงด้วยกัน 4 คน หากยังคงไปวัดเขาอ้อปรนนิบัติรับใช้พระครูสังฆวิจารย์ฉัตรทันต์บรรพตอยู่เสมอ พร้อมช่วยประกอบพิธีกรรม ต่างๆ ในฐานะศิษย์ฆราวาส และเมื่อพระครู สิทธิยาภิรัต (เอียด ปทุมสโร) ได้ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดดอนศาลาสืบต่อจากพระอาจารย์เกลี้ยง แก้วจันทร์ ที่มรณภาพไปเมื่อปีพ.ศ. 2460 อาจารย์นำ แก้วจันทร์ จึงไปมาหาสู่พระครูสิทธิยาภิรัต (เอียด ปทุมสโร) ที่วัดดอนศาลาอันใกล้บ้านของท่าน ด้วยความคุ้นเคยใกล้ชิดที่มีต่อกัน และได้ช่วยประกอบพิธีกรรมต่างๆ แม้ว่าตอนนั้นพระครูสิทธิยาภิรัต (เอียด ปทุมสโร) จะมีศิษย์ฆราวาสคู่บารมีอยู่แล้ว คือ ผู้ใหญ่ยอดแก้ว แต่ต่อมาเมื่อผู้ใหญ่ยอดแก้วอายุมากขึ้น ภาระหน้าที่ในการประกอบพิธีกรรมสายฆราวาสจึงตกอยู่กับอาจารย์นำ แก้วจันทร์ โดยตลอดเรื่อยมาจวบจนพระครู สิทธิยาภิรัต (เอียด ปทุมสโร) มรณภาพ



ในปีพ.ศ.2505 อาจารย์นำ แก้วจันทร์ อายุ 74 ปี ได้เกิดล้มป่วยอาการทรุดหนักลงตามลำดับ อาการป่วยในครั้งนี้หนักหนาสาหัสอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ยากแก่การจะมีชีวิตรอดมาได้ ถึงขั้นมีการตระเตรียมงานศพไว้รอ และแล้วสิ่งมหัศจรรย์ก็บังเกิดขึ้น เมื่อภาพนิมิตของ พระครูสังฆวิจารย์ฉัตรทันต์บรรพต(ทองเฒ่า) ได้ปรากฏให้เห็นบอกว่า "หากรับปากจะกลับไปบวชอีกครั้งหนึ่ง อาการป่วยที่เป็นอยู่ก็จะกลับกลายหายเป็นปกติ ทั้งยังมีโอกาสทำนุบำรุงวัดดอนศาลา และพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อไปในอนาคต" ครั้นเมื่อรับปากอาการเจ็บป่วยก็ทุเลาเป็นลำดับ และหายเป็นปกติ

วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2506 อาจารย์นำ แก้วจันทร์ ได้เข้าอุปสมบทอีกครั้งหนึ่ง ณ พัทธสีมาวัดดอนศาลามี พระพุทธิธรรมธาดา วัดสุวรรณวิชัย (วัดกุฏิ) รองเจ้าคณะจังหวัดพัทลุง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูกรุณานุรักษ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูกาชาด(บุญทอง) เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ได้พำนักจำพรรษาที่วัดดอนศาลา โดยมีลูกศิษย์รูปสำคัญคอยดูแลอย่างใกล้ชิดคือ พระอาจารย์ศรีเงิน อาภาธโร ซึ่งหากนับพรรษาแล้ว พระอาจารย์นำ ชินวโร อาจอ่อนเยาว์ แต่หากนับถึงความอาวุโสในฐานะของศิษย์สายสำนักวัดเขาอ้อในห้วงเวลานั้นแล้ว พระอาจารย์นำ ชินวโร อาวุโสเป็นอย่างยิ่ง อาวุโสในลำดับของครูบาอาจารย์ทีเดียว ที่พระอาจารย์นำ ชินวโร เคยปฏิเสธคำขอของบรรดาลูกศิษย์ที่ให้ท่านกลับเข้าสู่เพศบรรพชิตในครั้งก่อนๆ ก็เนื่องเพราะเกรงความยุ่งยากในการวางตัวของศิษย์บรรพชิต เพราะในทางสงฆ์ความอาวุโสวัดกับที่จำนวนพรรษา

เวลานั้นศิษย์ที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาโดยตรงจากพระครูสังฆวิจารย์ฉัตรทันต์บรรพต มี พระอาจารย์นำ ชินวโร อาวุโสสูงสุด เหนือกว่าศิษย์ทุกรูปทุกคนทั้งสายบรรพชิต และฆราวาส ดังนั้นเป็นเหตุให้ชื่อเสียงของ พระอาจารย์นำ ชินวโร เกริกไกรยิ่ง เปรียญเสมือนเป็นประธานของบรรดาศิษย์สายสำนักวัดเขาอ้อ ไม่ว่าจะขัดข้องติดขัดประการใด จะมาขอคำแนะ นำจาก พระอาจารย์นำ ชินวโร เสมอ เหตุนี้จึงทำให้พระอาจารย์นำ ชินวโร ได้รับการนิมนต์ให้เป็นเจ้าพิธีและเป็นประธานในการประกอบพิธีกรรม ต่างๆ อยู่เนืองๆ พระอาจารย์นำ ชินวโร ได้ทำประโยชน์หลายอย่าง ที่สำคัญมีดังนี้

การช่วยเหลือราชการปราบโจรผู้ร้าย ในสมัยที่พระอาจารย์นำ ชินวโร เป็นฆราวาส พ.ศ.2466 มณฑลนครศรีธรรมราชได้ส่งพระยาวิชัยประชาบาลไปปราบโจรผู้ร้ายในจังหวัดพัทลุง ได้ตั้งกองปราบที่บริเวณวัดสุวรรณวิชัย พระอาจารย์นำ ชินวโร เป็นกำลังสำคัญในการนำสืบจับโจรผู้ร้าย นับว่าเป็นประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่ในการปราบครั้งนั้นมาก

การสร้างวัตถุมงคล พระอาจารย์นำ ชินวโร ได้สร้างเครื่องรางของขลังไว้มาก ทั้งที่สร้างด้วยตัวท่านเอง และสร้างร่วมกับพระคณาจารย์อื่นๆ เช่น พ.ศ.2483 ร่วมมือกับ พระครูสิทธิยาภิรัต(เอียด ปทุมสโร) สร้างพระมหาว่านดำ-ขาว และพระมหายันต์ แจกให้ทหารที่ไปรบในสงครามอินโดจีน พ.ศ.2512 สร้างพระเนื้อผงจำนวน 4 พิมพ์ พ.ศ. 2513 สร้างพระปิดตาเนื้อชินตะกั่ว พ.ศ.2519 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ได้สร้างเหรียญปั๊มรูปเหมือนพระอาจารย์นำ ชินวโร และพระกริ่งทักษิณชินวโร ซึ่งเป็นวัตถุมงคลรุ่นสุดท้ายของท่าน

นอกจากนี้ ท่านยังได้สร้างตะกรุด และผ้ายันต์ไว้จำนวนมาก วัตถุมงคลเหล่านี้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชนทั่วไป



การสร้างอุโบสถวัดดอนศาลา พระอาจารย์นำได้ดำริจะสร้างอุโบสถสำหรับวัดดอนศาลา โดยได้ปรึกษาหารือกับบรรดาศิษย์ และรวบรวมเงินผู้มีจิตศรัทธาจากการทอดกฐินบ้าง ทอดผ้าป่าบ้าง จึงได้เริ่มสร้างอุโบสถตั้งแต่ พ.ศ.2513

อุโบสถวัดดอนศาลาสำเร็จเรียบร้อย เมื่อปีพ.ศ.2519 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จารึกพระปรมาภิไธยย่อ "ภ.ป.ร." ไว้ที่หน้าบันและขอบประตูหน้าต่างอุโบสถทุกบานภายในอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นค่าจ้างให้ช่างเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติและทศชาติชาดก ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่พระอาจารย์นำ ชินวโร และชาวจังหวัดพัทลุงเป็นอย่างยิ่ง



พระอาจารย์นำ ชินวโร เป็นผู้มีจิตเมตตากรุณา มีอุเบกขา ยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่เสมอ เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของผู้พบเห็น และได้ช่วยเหลือเกื้อกูลสังคมโดยส่วนรวมอย่างมาก

พระอาจารย์นำ ชินวโร ได้ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เวลา 22.00 น. สิริอายุได้ 88 ปี 12 พรรษา และในปีพ.ศ. 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ พระราชทานเพลิงศพ และพระราชทานพระปรมาภิไธยย่อ "ภ.ป.ร." ประทับด้านหลังเหรียญที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ

กล่าวสำหรับวัตถุมงคลของพระอาจารย์นำ ชินวโร โดยเฉพาะในเรื่องเหรียญปั๊มรูปเหมือนที่กล่าวว่า เหรียญที่สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2519 เป็นเหรียญปั๊มรูปเหมือน "รุ่นแรก" ของพระอาจารย์นำ ชินวโร ทั้งนี้ เมื่อปี พ.ศ.2513 ทางวัดชิโนรส กรุงเทพมหานคร ได้สร้างเหรียญปั๊มรูปเหมือนพระอาจารย์นำ ชินวโร ขึ้นมา เป็นเหรียญรูปทรงหยักแบบใบสาเก

ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนพระอาจารย์นำ ชินวโร นั่งสมาธิเต็มรูปอยู่บนอาสนะรองปู ล่างมาเป็นรูปเสือโคร่ง มีอักขระขอมใต้ตัวเสือว่า "พุทโธ" อักษรไทยด้านข้างซ้าย-ขวา ว่า "หลวงพ่อนำ ชินวโร วัดดอนศาลา พัทลุง"

ด้านหลัง เป็นสูตรยันต์ "นะ" และอักขระขอมว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ล่างยันต์เป็นอักษร ว่า "รุ่น ๑" และ "13 เม.ย. 13"

เหรียญนี้พระมหาประดับ ขออนุญาตจัดสร้างขึ้นเพื่อหาทุนปฏิสังขรณ์วัดชิโนรส จำนวนสร้างประมาณ 2,000 เหรียญหากในความนิยมเหรียญปั๊มรูปเหมือน พ.ศ. 2519 ถือว่าเป็นเหรียญปั๊มรูปเหมือนรุ่นแรก เนื่องเพราะออกจากวัดดอนศาลาโดยตรง

เหรียญปั๊มรูปเหมือน พ.ศ. 2519 เป็นเหรียญปั๊มรูปไข่ มีหูในตัว ขนาดสูงประมาณ 3.3 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2.5 เซนติเมตร

ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนพระอาจารย์นำ ชินวโร ครึ่งรูป ห่มจีวรคลุม มีอักษรไทยโดยรอบว่า "พระอาจารย์นำ แก้วจันทร์ วัดดอนศาลา พัทลุง อายุ ๘๔ ปี พ.ศ.๒๕๑๙"

ด้านหลัง เป็นอักขระเลขยันต์

เหรียญในรุ่นนี้มีจำนวนระบุไว้ว่า เนื้อทองคำ 44 เหรียญ เนื้อเงิน 66 เหรียญ เนื้อเงินพิเศษ 7 เหรียญ เนื้อโลหะบ้านเชียงผสม 20,000 เหรียญ

อย่างไรก็ตามยังมีวัตถุมงคลประเภทเครื่องรางของขลังที่พระอาจารย์นำ ชินวโร ได้สร้างขึ้นมาในยุคแรกๆ คือ ผ้ายันต์ ตะกรุดสังวาลย์ ตะกรุดโทน ตะกรุดสามกษัตริย์ ลูกประคำ ตะกรุดสาลิกา เป็นต้น

ตะกรุดโทนสร้างขึ้นจากแผ่นโลหะหลายชนิด ทั้งที่เป็นทองคำ เงิน ทองแดง และตะกั่ว มีความยาวประมาณ 5-6 นิ้ว การลงอักขระเลขยันต์มีด้วยกันหลายชนิด เช่น ลงด้วยยันต์โสฬสมงคล ล้อมรอบด้วยพระคาถาอีกด้านละ 3 บรรทัด ลงด้วยมงกุฎพระพุทธเจ้า และมหาพุทธาธิคุณ

ตะกรุดสามกษัตริย์ เป็นตะกรุดชุด 3 ดอก มีตะกรุดทองคำ นาก และเงิน ตะกรุดแต่ละดอกจะลงอักขระเลขยันต์แตกต่างกันไป พุทธคุณของตะกรุดชนิดนี้จึงครอบจักรวาล

ตะกรุดสาลิกา ตะกรุดชนิดนี้ท่านสร้างน้อยมาก เพราะกรรมวิธีการสร้างต้องอาศัยฤกษ์ยามอันเป็นมงคลตามตำรับ และเลือกทำให้เฉพาะบุคคลเท่านั้น

ยังมีวัตถุมงคลอื่นๆ ที่พระอาจารย์นำ ชินวโร ได้สร้างขึ้น เช่น พระเนื้อผงผสมว่าน โดยการรวบรวมว่าน 108 ชนิด ดินจากสถานที่ต่างๆ อันเป็นมงคล และผงวิเศษที่ท่านได้ทำขึ้นมา มีด้วยกันหลายพิมพ์ เช่น พิมพ์ปางปาฏิหาริย์ พิมพ์ยอดขุนพล พิมพ์กลีบบัว พิมพ์สี่เหลี่ยม พิมพ์อุ้มบาตรน้ำมนต์ ในพิมพ์ดังกล่าวนี้ บางองค์ด้านหลังปรากฏมีการปั๊มตัวอุณาโลม ภายในซุ้มคล้ายลักษณะเจดีย์

พระปิดตาที่พระอาจารย์นำ ชินวโร สร้างขึ้นมา 2 รุ่นด้วยกัน ซึ่งกรรมวิธีและขั้นตอนการสร้างพระปิดตานั้น พระอาจารย์นำ ชินวโร ได้ลงอักขระเลขยันต์ตามสูตรและตำรับสำนักวัดเขาอ้อบนแผ่นตะกั่ว จากนั้นจึงหลอมแผ่นตะกั่วที่ลงอักขระเลขยันต์เป็นเนื้อเดียวกัน นำมารีดเป็นแผ่นแล้วลงอักขระเลขยันต์ซ้ำ จากนั้นหล่อหลอมเป็นเนื้อเดียวแล้วรีดเป็นแผ่นอย่างนี้ถึง 7 ครั้ง ก่อนนำไปสร้างเป็นพระปิดตาเนื้อตะกั่วลงถม

พระปิดตารุ่นแรกสร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2510 จำนวนที่สร้างประมาณ 500 องค์ ทุกองค์ที่ด้านหลังมียันต์นะ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของพระอาจารย์นำ ชินวโร ผิวของพระปิดตาเป็นผิวปรอทเล็กน้อย

พระปิดตารุ่น 2 เหมือนรุ่นแรกทุกประการ แต่บริเวณด้านหลังได้ตอกโค้ดดอกจันเล็กๆ ไว้เป็นจุดสังเกต พระปิดตารุ่นนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2515 จำนวนประมาณ 1,000 องค์

ในปี พ.ศ. 2519 ซึ่งเป็นปีที่มีการฝังลูกนิมิตอุโบสถวัดดอนศาลา ซึ่งได้มีการสร้างวัตถุมงคลขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกมอบให้แก่ผู้ร่วมบริจาคทำบุญสร้างอุโบสถ

โดยวัตถุมงคลทั้งหมดนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ซึ่งเป็นผู้ที่ให้ความเคารพและศรัทธาพระอาจารย์นำ ชินวโร รับเป็นธุระในการจัดการดำเนินการทั้งหมด โดยพระอาจารย์นำ ชินวโร ได้ลงอักขระเลขยันต์บนแผ่นทองคำ เงิน นาก จำนวน 108 แผ่น ตามตำรับสำนักวัดเขาอ้อ และลงอักขระพระคาถาบนแท่งเงินบริสุทธิ์อีกจำนวน 5 กิโลกรัม มอบให้เป็นชนวนในการสร้างรวมกับโลหะเก่าบ้านเชียง ชนวนพระกริ่งบัวรอบวัดบวรนิเวศวิหาร นำชนวนทั้งหมดขึ้นทูลเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ บรรจุลงเบ้าเป็นปฐมฤกษ์ เพื่อความเป็นสิริมงคล ก่อนนำไปหล่อหลอมจัดสร้างเป็นวัตถุมงคลชนิดต่างๆ โดยเฉพาะเหรียญปั๊มรูปเหมือนที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น

หากยังมีวัตถุมงคลอื่นๆ ที่สร้างในคราวเดียวกับเหรียญปั๊มรูปเหมือน คือ รูปเหมือนลอยองค์ขนาดเล็ก สร้าง 3 เนื้อ คือ ทองคำ เงิน และทองแดง รูปเหมือนขนาดหน้าตัก 5 นิ้ว สร้างด้วยโลหะผสมผิวรมดำ พระกริ่งทักษิณชินวโร เป็นพระกริ่งที่ค่อนข้างเขื่อง และมีจำนวนการสร้างน้อยมาก พระบูชาทักษิณชินวโร เป็นพระบูชาลักษณะล้อศิลปะศรีวิชัย เป็นองค์ต้นแบบของพระกริ่งทักษิณชินวโร

วัตถุมงคลทั้งหมดได้เข้าพิธีพุทธาภิเษกพร้อมกับการจัดงานผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิต

และเหรียญปั๊มรูปเหมือนปี พ.ศ. 2520 เป็นเหรียญที่สร้างขึ้นในงานพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์นำ ชินวโร ได้ทำพิธีพุทธาภิเษก เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2520 โดยพระเกจิอาจารย์สายเข้าอ้อ และพระเกจิอาจารย์ผู้โด่งดังของภาคใต้
ราคาเปิดประมูล3,500 บาท
ราคาปัจจุบัน3,600 บาท (!!! ปิดประมูลแล้ว !!!)
เพิ่มขึ้นครั้งละ100 บาท
วันเปิดประมูล - 24 ม.ค. 2553 - 14:45:17 น.
วันปิดประมูล - 03 ก.พ. 2553 - 14:45:17 น. (ปิดประมูลแล้ว)
ผู้ตั้งประมูลโอ๋พัทลุง (653)


(0)
 
ราคาปัจจุบัน :     3,600 บาท
เพิ่มขึ้นครั้งละ :     100 บาท

!!! ท่านต้อง login เข้าสู่ระบบก่อน จึงจะสามารถร่วมประมูลได้ !!!


 

Copyright ©G-PRA.COM