(0)
หลวงปู่เย่อ วัดอาษาสงคราม อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ พ.ศ.2508 รุ่นแรก ส.หางยาว สภาพสวยตามรูป มาพร้อมบัตรการันตีรับรอง







ชื่อพระเครื่องหลวงปู่เย่อ วัดอาษาสงคราม อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ พ.ศ.2508 รุ่นแรก ส.หางยาว สภาพสวยตามรูป มาพร้อมบัตรการันตีรับรอง
รายละเอียดหลวงปู่เย่อ วัดอาษาสงคราม อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ พ.ศ.2508 รุ่นแรก ส.หางยาว สภาพสวยตามรูป มาพร้อมบัตรการันตีรับรอง ท่านใดพิจารณาแล้วชอบใจเคาะกันเลยครับ ประวัติ หลวงปู่เย่อ วัดอาษาสงคราม (สมุทรปราการ)

“พระครูสังฆวุฒาจารย์" หลวงปู่เย่อ ท่านถือกำเนิดเมื่อวันจันทร์ที่ ๑๘ มิถุนายน ปี พ.ศ. ๒๔๓๑ ตรงกับวันแรม ๓ ค่ำ เดือน ๗ ปีชวด ที่บ้านทมัง ตำบลตลาด อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ นามสกุล “กงเพ็ชร์” บิดามารดา เป็นชาวรามัญ โยมบิดาชื่อ “เกาะ” โยมมารดาชื่อ “สา” มีญาติพี่น้องร่วมกัน ๔ คนคือ นางหนู, นายบ๊ะ, หลวงปู่เย่อ, และนายเว่

เนื่องจากบิดามารดา เป็นชาวรามัญที่เคร่งครัดต่อประเพณีนิยมและมั่นคงต่อพระพุทธศาสนา เมื่ออยู่ในเยาว์วัย บิดาจึงพาไปทำบุญที่วัดด้วยเสมอ ทำให้เลื่อมใสต่อบวรพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็กๆ มีจิตใจใคร่ศึกษาธรรม ฝักใฝ่ต่อการเรียนรู้เพราะความใกล้ชิดระหว่างบ้านกับวัดเป็นเหตุสำคัญ

ครั้นเมื่อถึงวันที่ ๖กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๔๔ ท่านมีอายุได้เพียง ๑๓ ปี บิดา มารดาผู้หวังจะให้บุตรได้ศึกษาหาความรู้จึงได้พาท่านไปบรรพชาเป็นสามเณรน้อย ที่วัดอาษาสงคราม โดยมีท่านพระมหาขันธ์เป็นอาจารย์ให้ศีลและอนุสัยบวชให้ หลังจากนั้นก็ได้ศึกษาเล่าเรียนอักขระสมัยทั้งไทยและรามัญ จนมีความชำนิชำนาญ โดยเฉพาะอักขระขอมรามัญ จึงทำให้ท่านสามารถค้นคว้าตำราและคัมภีร์ต่างๆ ของรามัญได้อย่างกว้างขวาง เกิดความรอบรู้ทั้งทางปริยัติธรรมและวิชาแขนงต่างๆ ทางพุทธศาสนาตลอดจนวิชาการแพทย์ตามแบบโบราณสมัย ไว้เพื่อช่วยสงเคราะห์ชาวบ้านอีกด้วย

ครั้งเป็นสามเณรน้อยท่านดำรงตนเคร่งครัด อยู่ในศีล มีจริยาวัตรงดงาม ผ่องใสด้วยธรรมของพระพุทธองค์ จึงเป็นที่ปิติของบิดามารดาและบรรดาญาติพี่น้อง ตลอดจนครูอาจารย์และชาวบ้านที่พบเห็น ต่างก็ชื่นชมโดยทั่วกัน นอกจากนั้นท่านเองก็มีความแจ่มใสอยู่ในเพศบรรพชิต จึงตั้งจิตมั่นคงที่จะรับใช้พุทธศาสนาอยู่จนชีวิตหาไม่

ครั้นเมื่อท่านอายุย่างเข้าครบ ๒๐ ปี โยมบิดา มารดาและญาติพี่น้อง จึงพาสามเณรน้อยให้เป็นพระภิกษุ สมัยนั้นวัดอาษาสงคราม ยังไม่มีพระอุโบสถและพันธเสมาก็ได้พากันไปใช้พระอุโบสถของ วัดพญาปราบปัจจามิตร ซึ่งอยู่ติดกันนั้น แล้วนิมนต์ให้ (พระอธิการทอง วัดโมกข์) เป็นอุปัชฌาย์ (พระอธิการเกลี้ยง) วัดพญาปราบปัจจามิตรเป็นพระกรรมวาจาจารย์ (พระมหาโต วัดโมกข์) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ อุปสมบทเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๕๑ พระอุปัชฌาย์ตั้งฉายาให้ว่า “โฆสโก” แปลได้ว่า ผู้มีความกึกก้องกังวาน หมายถึงมีธรรมอันกว้างใหญ่ไพศาลถ้วนทั่ว

หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านก็ได้ศึกษาทางพระพุทธศาสนาทั้งทางคันถธุระและวิปัสสนาธุระมี ความรู้แตกฉานจนจบโดยเฉพาะบาลีแบบรามัญ ท่านมีความสามารถมาก แต่ยังไม่ทันได้เข้าสอบ “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส” ทรงมีพระบัญชาให้เลิกการสอบแบบปากเปล่า (มุขปาฐะ) และทรงยกเลิกการสอบแบบปากเปล่าทั้งทางบาลีไทยด้วย ให้สอบโดยการขีดเขียน แบบที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้

ถึงแม้ท่านจะไม่ได้สอบ ไม่มีใบรับรองความรู้อย่างใดก็ตาม แต่ความสามารถทางธรรมของท่านก็แตกฉาน สามารถอบรมสั่งสอนลูกศิษย์และภิกษุสามเณร หยิบยกข้อธรรมวินัย ที่มีหลักธรรมและคติธรรมมาสั่งสอนอย่างแคล่วคล่อง ทำให้ผู้ได้รับการสั่งสอนมีความรู้ ความสบายใจ ซึ้งใจเป็นอย่างยิ่ง จนมีศิษย์ของท่านสามารถผ่านการสอบได้เปรียญสูงๆ มากองค์ด้วยกัน ชาวบ้านที่มีความทุกข์เดือดร้อน ท่านก็ใช้หลักธรรมกล่อมเกลาอบรมสั่งสอน จนคลายทุกข์เดือดร้อนได้ บางคนที่มีความประพฤติไม่ดีงาม ท่านก็สั่งสอนให้แก้ไขปรับปรุงให้กำลังใจเขาจนกลับตัวได้ มีชีวิตมั่งมีศรีสุขเจริญขึ้น เป็นเจ้าคนนายคนก็มีไม่น้อย

นับได้ว่า ท่านเป็นผู้คงแก่เรียนผู้หนึ่งทีเดียว มีความชำนิชำนาญแม่นยำ ทั้งภาษาไทยและภาษารามัญ ผู้ใดมีปัญหาติดขัด ข้องใจปัญหาหลักภาษาหรืออักขระอย่างไร ท่านก็จะช่วยเหลือชี้แจง อธิบายให้จนแจ่มแจ้งเข้าใจได้อย่างถูกต้อง แสดงให้เห็นได้ว่าท่านชอบสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่เห็นแก่เหน็ด เหนื่อย มีความเมตตาต่อผู้อื่นอยู่เสมอ

ต่อมาท่าน พิจารณาเห็นว่า สิ่งที่จะทำให้ล่วงพ้นความทุกข์ไปได้นั้นก็คือ การมุ่งศึกษาทางปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐาน ท่านจึงมุ่งกลับไปศึกษา ทางวิปัสสนากรรมฐานโดยการค้นคว้าด้วยตนเองจากตำราภาษารามัญจนมีเข้าใจเป็น อย่างดี จึงแสวงหาอาจารย์ผู้ทรงคุณในทางปฏิบัติ ท่านจึงเดินทางไปศึกษากับ (“หลวงพ่อหลิม” วัดทุ่งบางมด) ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นวัดทุ่งโพธิ์ทอง ซึ่งเป็นพระอาจารย์ที่มีความสามารถทางวิปัสสนาสูง และเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เชี่ยวชาญทางพุทธเวทย์วิทยาคม อันมีชื่อเสียงเกรียงไกรในยุคนั้น หลวงพ่อหลิมนั้นท่านสร้างเครื่องรางของขลังแจกจ่ายประชาชน ของของท่านมีความศักดิ์สิทธิ์ใช้ได้ผล ทางเมตตามหานิยมนับว่ายอดเยี่ยมมาก เป็นต้นว่า นางกวัก ของท่านปัจจุบันมีค่าหาได้ยาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “รัก-ยม” ของหลวงพ่อหลิมนั้น ไม่มีอาจารย์ผู้ใดทำได้ศักดิ์สิทธิ์เหมือนของท่าน หลวงปู่เย่อได้ขอศึกษาวิปัสสนากับหลวงพ่อหลิมจนหลวงพ่อหลิมออกปากชมว่า หลวงปู่เย่อมีความเพียรพยายามดีมาก แม้จะมีอุปสรรคกีดขวางอย่างไร ก็พยามฟันฝ่าเดินทางไปศึกษาโดยมิยอมลดละ ซึ่งในสมัยนั้น ถนนหนทางก็มิใช่จะสะดวกสบายเหมือนสมัยนี้ การเดินทางจากพระประแดงไป "วัดทุ่งบางมด" จะต้องใช้เรือแจวไปกว่าจะถึงก็ใช้เวลานานหลายชั่วโมงทีเดียว

เมื่อสำเร็จวิชาการวิปัสสนาจนมีความเชี่ยวชาญชำนาญดีแล้ว หลวงพ่อหลิมซึ่งมีความเมตตาหลวงปู่เย่อมาก จึงได้ให้เรียนวิชาทางพุทธเวทย์วิทยาคมต่อ หลวงปู่ก็พยายามศึกษาเวทย์มนต์คาถาที่หลวงพ่อหลิมประสิทธิ์ประสาทให้ด้วย ความขยันหมั่นเพียร ตั้งอกตั้งใจ เอาจริงเอาจัง จนเกิดความชำนาญสามารถทำเครื่องรางของขลังที่ได้เรียนมา ใช้ได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจ

หลังจากนั้นท่านก็ยังไม่หยุดที่จะศึกษาหา ความรอบรู้ ท่านถือคติที่ว่าการศึกษาไม่มีการจบสิ้น ยิ่งรู้มากก็จะทำให้มีหูตากว้างไกล ชีวิตคือการศึกษา ผู้รู้มากกว่าย่อมฉลาดมากกว่า ความรู้มีอยู่ทั่วไปผู้ฉลาดจะต้องพยามเพียรแสวงหาอยู่เสมอ เมื่อเรียนวิชาจากหลวงพ่อหลิมจบสิ้นแล้ว ท่านจึงไปขอศึกษาวิชาจาก “อาจารย์กินรี” วัดบ้านเชียงใหม่ และ “อาจารย์พันธ์” วัดสกา อาจารย์สองท่านนี้ เป็นเถราจารย์ชาวรามัญที่มีความแก่กล้าทางคาถาอาคมไสยเวทย์มาก สามารถเสกสิ่งของให้มีชีวิตให้เห็นได้กับตาเช่นเดียวกับ (หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า) วิชาทางพุทธเวทย์วิทยาคมนั้นถ้าจะกล่าวแล้วของรามัญมีมาแต่โบราณ มีชื่อเสียงมาก จะเห็นได้ว่าในสมัยประวัติศาสตร์ ท่านมหาเถรคันฉ่อง อาจารย์ผู้ขมังเวทย์ชาวรามัญ ได้ใช้ความเชี่ยวชาญทางวิปัสสนาญาณและคาถาอาคม แสดงให้สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและทหารหาญได้ทอดพระเนตรประจักษ์แก่สายตา เมื่อครั้งการรณยุทธที่แม่น้ำสะโตง ภายหลังท่านมหาเถระ ได้รับเกียรติคุณเป็นถึง “สมเด็จพระพนรัต” วัดป่าแก้ว สังฆราชฝ่ายอรัญวาสี แห่งกรุงศรีอยุธยา ถือเป็นแบบฉบับแห่งคัมภีร์ทางพุทธเวทย์วิทยาคมสืบต่อมาแต่ครั้งกระโน้น

อาจารย์พันธ์ วัดสกานั้นท่านมีชื่อทาง สีผึ้งเมตตามหานิยม ที่ทำจากน้ำมันช้างพลายตกมัน คือเอาน้ำมันตรงซอกหูช้างที่ไหลขณะตกมัน มาเคี่ยวกับสีผึ้งใต้ร้านบวบด้วยพระเวทย์ สีผึ้งนั้นใช้ทางเมตตามหานิยมเป็นเยี่ยม

สำหรับ พระอาจารย์กินรี นั้นท่านชำนาญทั้งทางคงกระพันและเมตตา ทางคงกระพันท่านสร้างผ้าประเจียดสีแดงสวมต้นแขน เล่ากันว่าคงกระพันชาตรีชนิดแมลงวันไม่ได้กลิ่นเลือดทีเดียว (วัดบ้านเชียงใหม่ และวัดสกา ปัจจุบันได้รวมเป็นวัดเดียวกันชื่อว่า วัดกลาง)

หลวงปู่เย่อ ได้ขอศึกษาสืบต่อวิชา จากท่านอาจารย์ทั้งสองนี้ไว้จนเจนจบสิ้น นับว่าท่านมีความเพียรสูง เพราะการศึกษามิใช่เรื่องง่ายๆ จะต้องใช้พลังจิตตั้งใจมากจึงจะสำเร็จ จากนั้นมาท่านก็เฝ้าเพียรฝึกฝนวิปัสสนาอยู่อย่างสม่ำเสมอ ค้นคว้าตำรับตำราของรามัญเก่าๆ ที่มีอย่างเงียบๆ เพียงลำพังมิได้แสดงตนให้ผู้ใดทราบ เพราะหลวงปู่เป็นผู้มีความมักน้อย ถ่อมตนอยู่เป็นนิสัย การเจรจาก็สงบเสงี่ยมอยู่ในศีลแห่งสมณะ สมเป็นพุทธบุตรโดยแท้

วัตถุมงคลที่ท่านสร้างยุคแรกๆท่านสร้างเป็นพระเนื้อผง พิมพ์หลวงพ่อโต วัดอาษาสงคราม สี่เหลี่ยมองค์เล็กมวลสารเป็นเนื้อผงเกสรผสมกับผงน้ำมัน ส่วนเหรียญรุ่นแรกหลวงปู่เป็นเหรียญทรงอาร์ม สร้างปี พ.ศ.๒๕๐๘ โดยท่าน (น.อ.ประสิทธิ ศิริบุญ) สร้างถวายหลวงปู่ โดยว่าจ้างกองกษาปณ์จัดทำขึ้น จำนวนการจัดสร้าง เนื้ออัลปาก้า ๒,๕๐๐ เหรียญ และยังมีอีกหลายพิมพ์ที่จัดสร้างขึ้นในหลายโอกาส

หลวงปู่เป็นเถระที่มีความคิดก้าวหน้าอยู่เสมอ มีความสนใจการพัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองเห็นแก่ประโยชน์ของสาธารณะเป็นที่ ตั้ง สนับสนุนทางด้านการศึกษาของพระภิกษุสามเณรให้มีความรู้โดยการจัดตั้งให้มี การเรียนการสอนทางด้านพระปริยัติธรรม นอกจากนั้นยังสร้างสรรค์ถาวรวัตถุไว้มากมายเพื่อให้เกิดเป็นศรีสง่าแก่บรรดา ผู้พบเห็น และสืบอายุพระพุทธศาสนา ให้มั่นคงต่อไป

สิ่งก่อสร้างที่หลวงปู่สร้างไว้เพื่อให้ชาว บ้านได้ใช้ประโยชน์มีหลายอย่างเช่น เมรุฌาปนสถานและศาลาการเปรียญซึ่งใหญ่โตสวยงาม หลวงปู่ใช้เวลาสร้างเพียงปีเดียวก็สำเร็จ แสดงให้เห็นว่ามีผู้ศรัทธาหลวงปู่มาร่วมแรงร่วมใจกันอย่างดียิ่ง สำหรับที่อยู่อาศัยของภิกษุสามเณรท่านก็สร้างสรรค์ไว้ให้ใหม่เป็นที่งดงาม เจริญตา ช่วยเสริมสร้างศรัทธาให้แก่ผู้พบเห็น วัดอาษาสงครามที่ได้เห็นงดงามเป็นศรีสง่าในปัจจุบันนี้ก็ด้วยบารมีแห่งหลวงปู่โดยแท้

ด้วยกุศลราศีบารมีที่หลวงปู่ได้สร้างสรรค์ตลอดมานั้นเป็นที่ประจักษ์กันโดยแพร่หลายทั่วไปจึงทำให้หลวงปู่ได้รับสมณศักดิ์ดังนี้

วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็น “พระครูสังฆวิจารณ์” ฐานานุกรมของสมเด็จพระสังฆราช (วาสน์) ครั้งเมื่อยังเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดราชบพิตร

วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ เป็น “พระครูสังฆวุฒาจารย์” พระครูสัญญาบัตร

วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็น “พระครูสังฆวุฒาจารย์” พระครูสัญญาบัตรชั้นโท

หลวงปู่เย่อท่านได้ถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ สิริอายุได้ ๙๔ ปี ๗๓ พรรษา
ราคาเปิดประมูล100 บาท
ราคาปัจจุบัน5,100 บาท (!!! ปิดประมูลแล้ว !!!)
เพิ่มขึ้นครั้งละ100 บาท
วันเปิดประมูล - 24 พ.ค. 2565 - 15:28:19 น.
วันปิดประมูล - 26 พ.ค. 2565 - 18:15:17 น. (ปิดประมูลแล้ว)
ผู้ตั้งประมูลPhirat21 (445)


(0)
ข้อมูลเพิ่มเติม 1 - 24 พ.ค. 2565 - 15:28:55 น.



เพิ่มเติมครับ


ข้อมูลเพิ่มเติม 2 - 24 พ.ค. 2565 - 15:32:12 น.



เพิ่มเติม เลี่ยมพลาสติกพร้อใช้ครับ


 
ราคาปัจจุบัน :     5,100 บาท
เพิ่มขึ้นครั้งละ :     100 บาท

!!! ปิดประมูลแล้ว !!!

ผู้ชนะประมูล    zeron (1.4K)

 

Copyright ©G-PRA.COM