(0)
@@(วัดใจ..20บาท)..สุดยอดเครื่องรางแดนสยาม สิงห์สองขวัญปากเจาะหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ จ.นครสวรรค์ เนื้องาแกะ ติดรางวัลที่2งานจังหวัดสุพรรณบุรี เก่ามันส์ชัดเจน ศิลป์นิยม ตัวจริงเสียงจริง น่าบูชามากๆครับ@@








รายงานผลโหวต

จากรูปพระแท้ 0% [0]
จากรูปพระแท้แต่ข้อมูลไม่ถูกต้อง     0% [0]
จากรูปพระเก๊ 0% [0]
พระดูยากจากรูป 0% [0]

จำนวน โหวต



ชื่อพระเครื่อง@@(วัดใจ..20บาท)..สุดยอดเครื่องรางแดนสยาม สิงห์สองขวัญปากเจาะหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ จ.นครสวรรค์ เนื้องาแกะ ติดรางวัลที่2งานจังหวัดสุพรรณบุรี เก่ามันส์ชัดเจน ศิลป์นิยม ตัวจริงเสียงจริง น่าบูชามากๆครับ@@
รายละเอียดมาอีกแล้ว>>รายการวัดใจ..20บาทพีๆสมาชิกท่านใดสนใจใส่ราคามาได้เลย


1.อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมด้านล่างนะครับ


2.พระเครื่องที่ลงประมูลในแต่ละรายการนั้นราคาขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของเพื่อนสมาชิกที่ร่วมประมูล โดยกระผมไม่สามารถที่จะกำหนด หรือเรียกร้องราคาได้ (ถึงขาดทุนผมก็ต้องขาย)หากสมาชิกที่ต้องการเช่าไปเก็บไว้เพื่อออกต่อทำกำไรก็กรุณาตรวจสอบราคากลางให้แน่ใจก่อนที่จะลงราคาประมูลไปนะครับ จะได้ไม่ต้องมีปัญหาเรื่องประมูลพระผิดราคา หรือเอาไปแล้วขายไม่ได้ และต้องมีการขอคืนกันตามมาในภายหลัง ดูให้ชอบนะครับจะได้ไม่เสียโอกาศทั้ง2ฝ่าย


3.พระเครื่องหรือเครื่องรางต่างๆที่กระผมเอามาลงทุกรายการยินดีส่งออกบัตรรับรองทุกรายการแต่บางรายการทางสำนักงานไม่มีข้อมูลก็ต้องขออภัยด้วยนะครับ แต่ผมประกันแท้ตลอดชีพทุกชิ้น


4.รับประกันตามกฎของเว็บ G-PRA ทุกประการ


5.กระผมขอขอบพระคุณพี่ๆ สมาชิกทุกๆท่านที่ยอมรับยูซเซอร์เนมนี้มาโดยตลอด โปรดติดตามพระเครื่อง เครื่องรางและพระกรุดีๆ ที่นำมาประมูล ไม่ผิดหวังแน่นอนครับ


6.ทุกรายการไม่มีการปิดประมูลให้สมาชิกนอกรอบอย่างแน่นอน ใครให้ราคาไว้สูงสุดก็ได้บูชาไปตามกฎ


7.ขอให้พี่ๆสมาชิกทุกท่านโชคดีในการประมูลครั้งนี้ ร่ำรวยๆ มีความสุขกันทุกคนครับ

8.สนใจโทรสอบถามเพิ่มเติม 092-8947332
ราคาเปิดประมูล20 บาท
ราคาปัจจุบัน8,110 บาท (!!! ปิดประมูลแล้ว !!!)
เพิ่มขึ้นครั้งละ10 บาท
วันเปิดประมูล - 26 ก.พ. 2562 - 21:29:00 น.
วันปิดประมูล - 27 ก.พ. 2562 - 22:02:22 น. (ปิดประมูลแล้ว)
ผู้ตั้งประมูลcabzaa (2.3K)(2)


(0)
ข้อมูลเพิ่มเติม 1 - 26 ก.พ. 2562 - 21:29:25 น.



เพิ่มเติมครับ


ข้อมูลเพิ่มเติม 2 - 26 ก.พ. 2562 - 21:29:51 น.



บรรยายตามภาพครับ


ข้อมูลเพิ่มเติม 3 - 27 ก.พ. 2562 - 15:10:24 น.



ประวัติพระครูนิวาสธรรมขันธ์ (หลวงพ่อเดิม)

วัดหนองโพ

อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์

จากหนังสือ กิตติคุณหลวงพ่อเดิม

ธนิต อยู่โพธิ์ เรียบเรียง

ชาติภูมิ หลวงพ่อเดิมถือกำเนิดเมื่อวันพุธ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๓ ปีวอก จุลศักราช ๑๒๒๒ (แรม ๑๓ ค่ำ นั่นมิใช่วันพุธ เป็นวันศุกร์ตรงกับวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๐๓ โยมบิดาชื่อ นายเนียม โยมมารดาชื่อ นางภู่ มีพี่น้องร่วมบิดา มารดา คือ

๑. หลวงพ่อเดิม เพราะเหตุที่เป็นบุตรชายคนแรกของบิดามารดา ปู่ย่าตายายจึงให้ชื่อว่า “เดิม”

๒. นางทองคำ คงหาญ

๓. นางพู ทองหนุน

๔. นายดวน ภู่มณี

๕. นางพัน จันทร์เจริญ

๖. นางเปรื่อง หมื่นนราเดชจั่น

เมื่อหลวงพ่อเกิดนั้นหลวงพ่อเฒ่า (รอด)ได้ล่วงลับไปแล้ว และผู้ครองวัดหนองโพก็ผลัดเปลี่ยนสมภารสืบต่อกันมา ดังกล่าวในตำนานสังเขปท้ายเล่ม การศึกษาของหลวงพ่อเมื่อรุ่นเยาว์วัยก่อนอุปสมบทนั้น คงจะไม่ไต้เล่าเรียนอะไรเป็นชิ้นเป็นอันนัก ยิ่งเป็นลูกคนโตของพ่อแม่เช่นหลวงพ่อด้วย โอกาสที่จะได้เล่าเรียนอยู่วัดอยู่วาในสมัยอายุเยาว์วัยก็ย่อมมีน้อยที่สุด เข้าใจว่า หลวงพ่อเห็นจะไม่ได้เล่าเรียนอะไรเป็นล่ำเป็นสัน จึงไม่เคยได้ยินใครเล่าให้ฟังถึงการศึกษาของหลวงพ่อในสมัยเยาว์วัย

ต่อมาเมื่อวันอาทิตย์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะโรง โทศก ตรงกับวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๒๓ โยมผู้ชายของหลวงพ่อได้พาไปอุปสมบทเป็นพระภิกษุภาวะ ณ พัทธสีมาวัดเขาแก้ว อำเภอพยุหะดีรี จังหวัดนครสวรรค์โดยมีหลวงพ่อแก้ววัดอินทาราม (วัดใน) เป็นพระอุปัชฌายะ และหลวงพ่อเงิน (พระครูพยุหานุศาสก์) วัดพระปรางค์เหลือง (๑) ตำบลท่าน้ำอ้อย กับหลวงพ่อเทศ วัดสระทะเล ตำบลสระทะเล เป็นคู่สวด เมื่ออุปสมบท พระอุปัชฌาย์ให้นามฉายาว่า “พุทฺธสโร”

------------------------------------------------

(๑.) หลวงพ่อเงินวัดพระปรางค์เหลืองนี้ต่อมาเป็นพระครูพยุหานุศาสก์ เจ้าคณะแขวงพยุหะดีรี จังหวัดนครสวรรค์ ประชากรนับถือกันว่าเป็นพระผู้เฒ่าที่มีคาถาอาคมขลัง และมีชื่อเสียงทางรดน้ำมนต์

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสมณฑลนครสวรรค์ขึ้นไปตามลำน้ำเจ้าพระยาได้เสด็จขึ้นแวะเยี่ยมและโปรดให้หลวงพ่อเงินรดน้ำมนต์ถวายเมื่อวันที่ ๑๑ สิงนาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ (ดู - จดหมายเหตุเรื่องเสด็จประพาสต้นในรัชกาลที่ ๕ ครั้งที่ ๒)

ครั้นอุปสมบทแล้วก็มาอยู่วัดหนองโพ และได้เริ่มเล่าเรียนศึกษาเป็นจริงเป็นจังในระยะนี้เพราะเหตุที่หลวงพ่อไม่มีโอกาสได้อยู่วัดอยู่วาเล่าเรียนศึกษากับพระมาตั้งแต่เยาว์วัย เหมือนกุลบุตรทั้งหลายโดยทั่วไปในสมัยนั้นความรู้ในวิชาหนังสือและวิทยาการต่าง ๆ ซึ่งโดยปกติกุลบุตรอื่นๆ ที่เคยเป็นศิษย์วัด เมื่อระยะเด็กเขาศึกษาเล่าเรียนกันมาแต่ก่อนบวช หลวงพ่อต้องมาเล่าเรียนเอาเมื่อตอนอุปสมบทแล้วแทบทั้งนั้น แต่หลวงพ่อเป็นคนมีมานะพากเพียรเป็นยอดเยี่ยม

หลวงพ่อเคยเล่าให้ฟังว่า “ท่านมีนิสัยจะทำอะไรแล้วต้องทำให้สำเร็จ คิดอะไรไม่ได้เป็นไม่ยอมหยุดคิด คิดมันไปจนออกจนเข้าใจ ดูอะไรไม่ได้เรื่องไม่ได้ความ ก็คิดค้นมันไปจนแตกฉาน”

พออุปสมบทแล้ว หลวงพ่อก็ตั้งต้นศึกษาความรู้เป็นการใหญ่ เมื่อมาจำพรรษาอยู่ในวัดหนองโพตลอดเวลา ๗ พรรษาแรกได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยและท่องคัมภีร์วินัย ๑๐ ผูก (๒) กับหลวงตาชม ซึ่งเป็นผู้ครองวัดหนองโพอยู่ในเวลานั้น และศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมและวิชาอาคมกับนายพัน ชูพันธ์ ผู้ทรงวิทยาคุณอยู่ในบ้านหนองโพ ซึ่งเป็นศิษย์รุ่นเล็กของหลวงพ่อเฒ่าและยังมีชีวิตอยู่ในสมัยนั้น

-------------------------------------------------

(๒.) คัมภีร์วินัย ๑๐ ผูก นั้นคือ หนังสือที่ต่อมาได้ตีพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มเรียกชื่อว่า บุพพสิกขาวรรณนา ของพระอมราภิรักขิต (เกิด) วัดบรมนิวาส

ภายหลังเมื่อนายพันถึงมรณกรรมแล้ว ได้ไปจำพรรษาและศึกษาเล่าเรียนกับหลวงพ่อมี ณ วัดบ้านบน ตำบลม่วงหัก อำเภอพยุหะดีรี จังหวัดนครสวรรค์ อยู่วัดบ้านบน ๒ พรรษา ในตอนนี้หลวงพ่อก็หาโอกาสไปเรียนและหัดเทศน์กับพระอาจารย์นุ่ม วัดเขาทอง และไปมอบตัวเป็นศิษย์เรียนข้อธรรมและวินัยกับอาจารย์แย้ม ซึ่งเป็นฆราวาสและอยู่ที่วัดพระปรางค์เหลืองด้วย จนนับว่าเป็นผู้มีความรู้แตกฉานพอแก่สมัยนั้นก็เริ่มเป็นนักเทศน์

เป็นนักเทศน์

เล่ากันมาว่า หลวงพ่อเคยเทศน์เก่ง ทั้งเทศน์คู่และเทศน์เดี่ยว ฉลาดในการวิสัชนาปัญหาธรรม และเข้าใจแยกแยะให้อรรถาธิบายข้อธรรมให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่าย จนปรากฏว่าในครั้งนั้นมีคนชอบนิมนต์หลวงพ่อไปเทศน์กันเนื่องๆ พูดกันจนถึงว่า พอเทศน์ในงานนี้จบ ก็มีคนเข้าไปประเคนพานหมากนิมนต์ไปเทศน์ในงานโน้นอีก ติดต่อกันไป

หลวงพ่อเป็นนักเทศน์อยู่หลายปี แต่แล้วหลวงพ่อก็เลิกเทศน์ เหตุที่เลิกเทศน์นั้น เพราะหลวงพ่อปรารภว่า

“มัวแต่ไปเที่ยวสอนคนอื่น และเอาสตางค์เขาเสียอีกด้วย ส่วนตัวเองไม่สอนสักที ต่อไปนี้ต้องสอนตัวเองเสียที”

ต่อแต่นั้นมาก็เลิกเทศน์เป็นเด็ดขาด แม้จะมีใครมานิมนต์เทศน์อีกหลวงพ่อก็ไม่รับนิมนต์ ถ้าเจ้าของงานต้องการจะได้พระเทศน์จริง ๆ หลวงพ่อก็ระบุให้ไปนิมนต์พระภิกษุรูปอื่นไปเทศน์แทน แต่ถ้าเป็นธรรมสากัจฉา หลวงพ่อก็ชอบฟัง และถ้าปัญหาธรรมที่หยิบยกขึ้นมาวิสัชนากันนั้น แก้ไขกันไม่แจ่มแจ้งหลวงพ่อก็ช่วยวิสัชนาแยกแยะอรรถาธิบายให้แจ่มแจ้งจนคลายข้อกังขา

เมื่อเลิกเป็นนักเทศน์แล้วในพรรษาที่ ๙ - ๑๐ และ ๑๑ หลวงพ่อได้ไปเรียนทางวิปัสสนากับหลวงพ่อเงิน (พระครูพยุหานุศาสก์) วัดพระปรางค์เหลือง อำเภอพยุหะดีรี จังหวัดนครสวรรค์ เรื่องเรียนวิปัสสนากรรมฐานนั้น หลวงพ่อปฏิบัติจริงจังตลอดมา ท่านนั่งตัวตรงตามหลักพระบาลีที่ว่า “นิสีทติ ปลฺลงฺกํ อาภุชิตฺวา อุชุ กายํ ปณิธาย ปริมุขํ สตึ อุปฏฺฐเปตฺวา - นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ตั้งสติกำหนดอารมณ์ไว้เฉพาะหน้า” หลวงพ่อนั่งตัวตรงเสมอมาจนอายุ ๙๐ เศษ ก็ยังนั่งตัวตรง (ดูรูป)

เรียนวิชาอาคม

โดยเหตุที่หลวงพ่อได้เคยเรียนวิชาอาคมมากับนายพัน ตั้งแต่เริ่มอุปสมบทในพรรษาแรก ๆ บ้างแล้ว ในตอนนี้ก็ปรากฏว่าได้เรียนและหัดทำอีก แต่หลวงพ่อจะไปศึกษาเล่าเรียนมาจากสำนักของอาจารย์ใดบ้าง ไม่ทราบได้ตลอด เท่าที่ทราบกันบ้างก็ว่า หลวงพ่อได้เรียนกับนายสาบ้าง ไปเรียนกับหลวงพ่อเทศ วัดสระทะเล บ้าง ไปเรียนกับหลวงพ่อวัดเขาหน่อ ตำบลบ้านแดน อำเภอบรรพตพิสัยจังหวัดนครสวรรค์บ้าง

เวทย์มนต์คาถาหรือวิทยาอาคมแต่ก่อนๆ มาก็นิยมกันว่า สามารถปลุกเสกให้มีเสน่ห์มหานิยมหรืออยู่ยงคงกระพันชาตรี หรือขับไล่ภูตผีปีศาจ หรือทำให้เกิดอำนาจเกิดอิทธิฤทธิ์ขึ้น และทำความศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ อย่างที่เรียกว่าปาฏิหาริย์ เป็นของที่นิยมและเชื่อกันมาแต่ดึกดำบรรพ์ ดังจะเห็นได้ในหนังสือเกี่ยวกับเรื่องโบราณ มีปฐมสมโพธิ เป็นต้น การเรียนและฝึกหัดทำเวทย์มนต์คาถาวิทยาอาคมเหล่านี้ เรียกกันว่า เรียนวิชา หรือเรียนคาถาอาคม แต่โบราณมาก็สืบเสาะแสวงหาที่ร่ำเรียนกับพระอาจารย์ตามวัด ดังจะเห็นได้จากเรื่อง ขุนช้างขุนแผน เป็นต้น

ปรากฏว่า หลวงพ่อ “ทำวิชาขลัง” จนเป็นที่เลื่องลือท่านผู้อ่านบางท่านจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม แต่เห็นจะมีผู้รู้ผู้เห็น “ความขลัง” ของหลวงพ่อประจักษ์แก่ตาและแก่ตนเอง แล้วเล่ากันต่อๆ ไป จนเป็นที่ประจักษ์แก่หูอยู่เป็นอันมาก จึงปรากฏว่าประชาชนทั้งชาวบ้านและข้าราชการทั้งทหารและพลเรือนทั้งในจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดที่ใกล้เดียงตลอดไปจนจังหวัดที่ห่างไกลบางจังหวัด พากันไปมอบตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อมากมาย ขอให้หลวงพ่อรดน้ำมนต์บ้าง ขอวิชาอาคมบ้าง ขอแป้งขอผงบ้าง ขอน้ำมันบ้าง ขอตะกรุดบ้าง ขอผ้าประเจียดบ้าง ขอรูปและอื่นๆ บ้าง จากหลวงพ่อ และที่แพร่หลายที่สุดก็คือ ขอแหวนเงินหรือนิเกิลลงยันต์ มีรูปหลวงพ่อนั่งขัดสมาธิที่หัวแหวน

ต่อมาเมื่อสมัยสงครามมหาอาเซียบูรพา มีประชาชนพากันไปหาหลวงพ่อ วันละมากมาก นอกจากขอของขลังเช่นกล่าวแล้ว ยังพากันหาซื้อผ้าขาวผ้าแดง ผืนหนึ่ง ๆ ขนาดกว้างยาวราว ๑๒ นิ้วฟุต เอาน้ำหมึกไปทาฝ่าเท้าหลวงพ่อ แล้วยกขาของท่านเอาฝ่าเท้ากดลงไปให้รอยเท้าติดบนแผ่นผ้า บางคนก็กดเอาไปรอยเท้าเดียว บางคนก็กดเอาไปทั้งสองรอย แล้วก็เอาผ้าผืนนั้นไปเป็นผ้าประเจียดสำหรับคุ้มครองป้องกันตัว ฝ่าเท้าของหลวงพ่อต้องเปื้อนหมึกอยู่ตลอดทุกวัน หลวงพ่อเคยบ่นกับผู้เขียนในเวลาลับหลังเขาว่า

“มันทำกูเป็นหนูถีบจักร เมื่อยแข้งเมื่อยขาไปหมด”

ในเวลามีงานนักขัตฤกษ์ที่วัดหนองโพ หรือที่วัดอื่นๆ ซึ่งเขานิมนต์หลวงพ่อไปเป็นประธานของงาน มักจะมีประชาชนมาขอแป้งขอน้ำมนต์น้ำมันและของขลังต่าง ๆ กันเนื่องแน่นมากมาย ที่ก้มศีรษะมาให้หลวงพ่อเสกเป่าหัวให้ก็มี ที่ขอให้ถ่มน้ำลายรดหัวไม่น้อย

ผู้เขียนจำได้ว่าเมื่อคราวทำศพหลวงน้าสมุห์ชุ่ม ที่วัดหนองโพ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๑ มีผู้คนมาในงานศพนั้นมากมาย และพากันไปนั่งล้อมหลวงพ่อ ขอ “ของขลัง” บ้าง ให้เป่าหัวให้บ้าง ให้ถ่มน้ำลายรดหัวบ้าง ครั้นค่อยเบาบางผู้คน หลวงพ่อก็ให้ศิษย์ช่วยพยุงตัวพาลุกหนีออกมากุฏิของท่าน แล้วมาคุยกับผู้เขียนซึ่งกำลังนั่งคุยกันอยู่ที่ชานหน้ากุฏิอีกหลังหนึ่งและตั้งอยู่ห่างจากกุฏิหลวงพ่อ พอปูอาสนะถวาย หลวงพ่อก็นั่งลงแล้วบ่นว่า

“เดี๋ยวคนนั้นให้ถ่มน้ำลายใส่หัว เดี๋ยวคนให้เป่าหัว จนคอแห้งผากไม่มีน้ำลายจะถ่ม เล่นเอาจะเป็นลมเสียให้ได้”

แต่พอหลวงพ่อมานั่งคุยอยู่ได้สักประเดี๋ยวก็มีคนตามมาขอให้ทำอย่างนั้นอีก หลวงพ่อก็ทำให้อีก ไม่เห็นแสดงอาการเบื่อหน่ายระอิดระอา

เมื่อพระภิกษุซึ่งเป็นศิษย์รุ่นใหม่ๆ ไปขอเรียนคาถาอาคมกับหลวงพ่อ ท่านก็เมตตาบอกให้แล้วเตือนว่า

“เรียนไว้เถอะดี แต่ต่อไปจะคิดถึงตัว”

เห็นจะหมายความว่า เมื่อทำว่าได้ขลังขึ้นแล้ว ถูกประชาชนรบกวนเหมือนอย่างที่หลวงพ่อประสบอยู่จนตลอดชีวิตของท่าน

แต่ก็สังเกตเห็นตลอดมาว่า หลวงพ่อทำให้เขาด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส เห็นจะปลงตกประหนึ่งถือเป็นหน้าที่จะต้องทำให้เขาทั่วหน้ากัน เพราะหลวงพ่อเป็นผู้มีอัธยาศัยกว้างขวางและต้อนรับปฏิสันถารดี โอภาปราศรัยเหมาะแก่บุคคลและกาลเทศะ ไม่มากไม่น้อย ประกอบกับท่านมีรูปร่างสูงใหญ่ และมีอิริยาบถเป็นสง่า จึงเป็นที่น่าเคารพยำเกรงของคนทั่วไป

กิตติคุณในเรื่อง “วิชาขลัง” ของหลวงพ่อนั้น เป็นที่เลื่องลือกันแพร่หลายมานานหนักหนา มีเรื่องเล่ากันต่างๆ หลายอย่างหลายเรื่อง ถ้าจะจดลงไว้ก็จะเป็นหนังสือเล่มใหญ่ ผู้เขียนเคยได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่เป็นเด็ก ครั้นเมื่อมีอายุมากขึ้น คราวหนึ่งเมื่อมีโอกาสจึงกราบเรียนถามหลวงพ่อตรงๆ ว่า

“มีดีจริงอย่างที่เขาเลื่องลือกันหรือขอรับ ?”

ท่านก็ยิ้มแล้วตอบว่า “เขาพากันเชื่อถือกันว่าอย่างนั้นดี มาขอให้ทำก็ทำให้”

ฟังดูเหมือนหลวงพ่อทำให้ตามใจผู้ขอ เมื่อเขาต้องการ ท่านก็ทำให้ ผู้เขียนจึงกราบเรียนต่อไปว่า “คาถาแต่ละบทดูครูบาอาจารย์แต่ก่อน ท่านก็บอกฝอยของท่านไว้ล้วนแต่ดีๆ บางบทก็ใช้ได้หลายอย่างหลายด้าน จะเป็นจริงตามนั้นบ้างไหม ?”

หลวงพ่อได้ไปรดชี้แจงอย่างกลางๆ เป็นความสั้นๆ ว่า “ของจริง รู้จริง เห็นจริง ย่อมทำได้จริง”

ครั้นผู้เขียนได้ฟังอย่างนี้ ก็มิได้กราบเรียนซักถามหลวงพ่อต่อไป แต่หลวงพ่อได้เมตตาบอกคาถาให้จดมา ๗ บท ขอนำมาพิมพ์ไว้ต่อท้ายประวัติของหลวงพ่อนี้

สันโดษ และ พากเพียร

หลวงพ่อมีนิสัยสันโดษ จนบางคราวเห็นได้ว่ามักน้อย และมีความพากเพียรพยายาม สบงและจีวรที่นุ่งห่มก็นิยมใช้ของเก่า จะได้เห็นหลวงพ่อนุ่งห่มสบงจีวรใหม่ ก็ต่อเมื่อมีผู้ศรัทธาถวายให้ครองในกิจนิมนต์ หลวงพ่อจึงครองฉลองศรัทธา ถ้าเป็นไตรจีวรแพร ครองแล้วกลับมาจากที่นิมนต์ก็มอบให้พระภิกษุรูปอื่นไป ข้าวของที่มีผู้ถวาย ถ้ามีประโยชน์แก่พระภิกษุรูปอื่นๆ หลวงพ่อก็ให้ต่อไป

ของสิ่งใดที่มีผู้ถวายไว้ ถ้ามีใครอยากได้แล้วออกปากขอ หลวงพ่อก็ให้ แต่เมื่อหลวงพ่อบอกให้แล้ว ผู้ขอต้องเอาไปเลยทีเดียว ถ้ายังไม่เอาไปและทิ้งไว้ หรือฝากไว้กับหลวงพ่อ เมื่อมีใครมาเห็นในภายหลังและออกปากขออีก หลวงพ่อก็ให้อีก เมื่อผู้ขอภายหลังเอาไปแล้วผู้ขอก่อนมาต่อว่าว่าให้ผมแล้วเหตุใดจึงให้คนอื่นไปเสียอีก หลวงพ่อจะตอบว่า ก็ไม่เห็นเอาไป นึกว่าไม่อยากได้ จึงให้คนที่เขาอยากได้

กุฏิที่มีผู้สร้างถวายดี ๆ มีฝารอบชอบชิด หลวงพ่อก็ไม่ชอบอยู่ ชอบอยู่ในศาลาซึ่งมีแต่ฝาลำแพนบังลมในบางด้าน ต่อมาเมื่อหลวงพ่อมีอายุล่วงเข้าวัยชรามากแล้ว บรรดาศิษยานุศิษย์จึงช่วยกันรื้อศาลาหลังนั้นไปปลูกไว้ ณ ป่าช้าเผาศพ ทางทิศตะวันออกของวัดหนองโพ แล้วสร้างกุฏิมีฝารอบขอบชิดขึ้นแทนในที่เดิม ถวายให้เป็นที่อยู่ของหลวงพ่อต่อมา จนถึงวันมรณภาพ

ณ ศาลาหลังที่รื้อไปนั้น เมื่อผู้เขียนเป็นเด็กวัด เคยไปนอนอยู่ปลายตีนเตียงนอนปลายเท้าของหลวงพ่อ ครั้นตื่นขึ้นตอนเช้ามืด ราวตี ๔ ตี ๕ ก็เห็นหลวงพ่อจุดเทียนอ่านหนังสือคัมภีร์ใบลานสั้นๆ เสมอ เคยสอบถามศิษย์รุ่นเก่าก็เล่าตรงกันว่า เคยเห็นหลวงพ่อลุกขึ้นจุดเทียนอ่านหนังสือเช้ามืดอย่างนี้ตลอดมา แม้จะไปนอนค้างอ้างแรมในดงในป่า หลวงพ่อก็จุดเทียนอ่านหนังสือในตอนเช้ามืดเช่นนั้นเป็นนิตย์

ผู้เขียนอยากรู้ว่าหนังสือนั้นเป็นเรื่องอะไร ไม่รู้จนแล้วจนรอด เพราะหลวงพ่อมักจะเอาติดตัวไปไหนมาไหนด้วยเสมอ เวลาท่านอยู่ ไม่มีศิษย์คนใดกล้าไปขอดู หรือเรียนถามว่าเป็นหนังสืออะไร มาจนหลวงพ่อมรณภาพแล้ว เมื่อผู้เขียนขึ้นไปนมัสการศพหลวงพ่อจึงให้ค้นดู ปรากฏว่าเป็นหนังสือปฤศนาธรรม สำนวนเก่ามาก คัมภีร์หนึ่งมี ๖๒ ลาน เรียกว่า มูลกัมมัฏฐานและทางวิปัสสนา อีกคัมภีร์หนึ่ง มี ๑๖ ลาน เรียกว่า พระอภิธรรมภายใน ตลอดอายุของหลวงพ่อเห็นจะอ่านคัมภีร์ทั้งสองนั้นตั้งหลายพันครั้ง

ชอบเลี้ยงสัตว์พาหนะ

หลวงพ่อชอบเลี้ยงสัตว์พาหนะ ตอนแรกๆ ได้เลี้ยงวัวขึ้นไว้ฝูงใหญ่ แล้วภายหลังได้ยกให้นายต่วน คงหาญ ผู้เป็นหลานชายไป สัตว์ที่ชอบเลี้ยงเป็นประจำก็คือช้างและม้า เรื่องเลี้ยงช้างนั้นมิใช่แต่ชอบเลี้ยงอย่างว่าพอมีช้างเท่านั้น หลวงพ่อได้ศึกษาวิชาการช้างจนถึงร่วมกับหมอข้างไปโพนจับช้างป่าด้วย

หลวงพ่อเคยมีช้างหลายเชือก ทั้งช้างงาและช้างสีดอ ตายแล้วก็หามาเลี้ยงไว้ใหม่ แม้จนเวลามรณภาพก็ยังมีอยู่อีก ๓ เชือก แต่ได้ยกมอบให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้คนไว้แล้วก่อนท่านถึงมรณภาพ

สัตว์พาหนะที่หลวงพ่อชอบเลี้ยงไว้ก็เพื่อใช้เป็นพาหนะสำหรับบรรทุกและลากเข็นทัพพสัมภาระ ในการก่อสร้างถาวรวัตถุ และใช้ในการมหกรรมเครื่องบันเทิงของชาวบ้านในท้องถิ่นด้วย ดังจะเห็นได้ในเมื่ออ่านประวัติของหลวงพ่อต่อไป

แม้หลวงพ่อจะชอบเลี้ยงช้างก็จริง แต่ก่อนไม่เคยเห็นท่านขี่ช้าง มาขี่ตอนหลังเมื่ออายุหลวงพ่อล่วงเข้าวัยชรามากแล้ว

แต่ก่อนหลวงพ่อชอบเดินและเดินทนเดินเร็วเสียด้วย เรื่องเดินของหลวงพ่อนี้บรรดาศิษย์ตั้งแต่รุ่นก่อนๆ มาจนถึงรุ่นหลังๆ ที่เคยติดตามหลวงพ่อ ต่างระอาและเกรงกลัวไปตาม ๆ กันบางคนเดินทางไปกับหลวงพ่อครั้งเดียวก็เข็ด เพราะหลวงพ่อเดินตั้งครึ่งวันค่อนวัน ไม่หยุดพักและเดินเร็ว สังเกตดูก็เห็นก้าวช้า ๆ จังหวะก้าวเนิบ ๆ คล้ายกับช้างเดิน แต่คนอื่นต้องรีบสาวเท้าตาม

ผู้เขียนเองเมื่อเป็นเด็กเคยสะพายย่ามตามหลัง ถึงกับต้องวิ่งเหยาะ และถ้ามัวเผลอเหม่อดูอะไรเสียบ้างก็ทิ้งจังหวะไกลจนถึงต้องวิ่งตามให้ทันเป็นคราว ๆ

เรื่องเดินทน ไม่หยุดพักของหลวงพ่อนั่น ถึงกับเคยมีศิษย์บางคนที่ตามไปด้วยต้องออกอุบายเก็บหญ้าพุ่งชู้ตามข้างทาง เดินตามไปพลาง แล้วเอาหญ้าพุ่งชู้ขว้างให้ติดจีวรของหลวงพ่อไปพลาง จนเห็นว่าหญ้าติดจีวรมากแล้ว พอถึงที่มีร่มไม้ก็ออกอุบายเรียนขึ้นว่า

“หลวงพ่อครับ หญ้าติดจีวรเต็มไปหมดแล้ว หยุดพัก เก็บหญ้าออกกันเสียทีเถอะ”

จึงเป็นอันได้หยุดพักกันครั้งหนึ่ง

ชอบค้นคว้าทดลอง

หลวงพ่อมีนิสัยชอบศึกษาและค้นคว้าทดลอง การค้นคว้าทดลองของหลวงพ่อนั้นมีหลายเรื่อง ขอนำมาเล่าแต่บางเรื่อง เช่นคราวหนึ่งได้ประดิษฐ์สร้างเกวียนให้เดินได้เองโดยไม่ต้องใช้แรงวัวหรือแรงควายเทียมลาก เรียกของท่านว่าเกวียนโยก เมื่อสร้างขึ้นแล้วก็โยกให้เดินได้คล่องแคล่วดี แต่เดินได้แต่รุดหน้า เลี้ยวไม่ได้ จะได้พยายามแก้ไขอย่างไรอีกหรือเปล่าไม่ทราบได้ แต่ไม่ช้าก็เลิกไป

ตามปรกติชาวบ้านเขาสร้างเกวียนวัวเกวียนควายใช้กัน แต่หลวงพ่อสร้างเกวียนช้างคือใช้ช้างเทียมลาก แต่เกวียนช้างที่หลวงพ่อสร้างขึ้นครั้งแรกนั้น ไม่สำเร็จประโยชน์ดังประสงค์ เพราะเมื่อบรรทุกแล้ว พื้นดินทานน้ำหนักไม่ได้ กงล้อจมลงไปในพื้นดิน ต่อมาก็เลิก

ครั้นมาเมื่อสมัยเริ่มแรกนิยมใช้รถยนต์บรรทุกกันตามหัวเมือง หลวงพ่อก็ซื้อรถยนต์ไปใช้ แต่รถยนต์สมัยนั้นแล่นไปได้แต่ตามทางเกวียนที่เรียบๆ เมื่อแล่นไปตามท้องนา ซึ่งมีคันนาและมีหัวขี้แต้ หรือในท้องที่ขรุขระ ก็แล่นไม่ได้ ต้องมีคนคอยบุกเบิกทาง เอาจอบสับเอาเสียมแซะและเอาขวานคอยฟันคอยกรานต้นไม้กิ่งไม้ตามทางที่รถยนต์จะผ่านไป

ไม่ช้าหลวงพ่อก็เบื่อ ต่อมาก็เลิก แล้วหันกลับไปนิยมเลี้ยงช้างอย่างเดิม และคราวนี้ได้ประดิษฐ์สร้างเกวียนช้างขึ้นใหม่ แก้ไขจนใช้บรรทุกลากเข็นได้ประโยชน์ดีมากได้ใช้สำหรับเข็นลากไม้เสาและสัมภาระอื่นๆ ในการสร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งเรียกว่า วัดหนองหลวง เพราะสร้างขึ้น ณ ที่ริมหนองน้ำชื่อนั้น

นอกจากค้นคว้าในทางประดิษฐ์แล้ว ตำรับตำราที่ครูบาอาจารย์ทำไว้แต่ก่อน ๆ บางอย่างหลวงพ่อก็นำมาทดลองด้วย เช่นวิชาเล่นแร่ คือทำแร่ตะกั่วให้เป็นเงินและทำเงินให้เป็นทอง บรรดาลูกศิษย์รุ่นเก่าเล่าให้ฟังว่า หลวงพ่อพยายามทดลองค้นคว้าวิชาทำเงินให้เป็นทองอยู่หลายปี โดยมีลูกศิษย์เป็นลูกมือช่วยเผาถ่าน ช่วยสูบไฟและอื่นๆ แต่ตอนผสมส่วนของธาตุโลหะและผสมยาซัดนั้น เล่ากันว่าหลวงพ่อต้องทำเอง

บรรดาศิษย์รุ่นเก่าเหล่านั้นเล่าตรงกันว่าหลวงพ่อพยายามทำเงินให้เป็นทองคำจนได้ ศิษย์รุ่นใหญ่ระบุ ทองที่หลวงพ่อทำได้และมอบให้กับศิษย์บางคน ซึ่งศิษย์ผู้นั้นได้เอาไปทำเครื่องประดับให้ลูกหลานสวมใส่อยู่ต่อมา

เรื่องที่จะเลิกทำทองนั้น เล่ากันมาว่า วันหนึ่งหลวงพ่อถลุงเงินให้เป็นทอง หนักราวสัก ๑ บาท พอหลอมเสร็จเทออกมาจากเบ้าทิ้งไว้ให้เย็น เอาขึ้นทั่งแล้วก็เอาฆ้อนตีแผ่ออกเป็นแผ่นบาง แล้วก็เอาลงหลอมดูใหม่แล้วก็เอามาตีแผ่ดูอีก เข้าใจว่า หลวงพ่อคงตรวจตราพิจารณาดูว่าจะเป็นทองคำได้จริงหรือไม่ แล้วก็เอาลงเบ้าหลอมดูอีกและเทออกจากเบ้าทิ้งไว้ให้เย็นเป็นก้อนค่อนข้างกลม แล้วหลวงพ่อก็หยุดไปนั่งพักเฉยอยู่บนอาสนะเป็นเชิงตรึกตรอง ไม่พูดจาว่ากระไร บรรดาศิษย์ต่างก็หยิบมาดูกันคนละทีสองทีแล้วคนนั้นก็ขอ คนนี้ก็ขอ

สักครู่หลวงพ่อก็ลุกเดินมาหยิบทองก้อนนั้นขึ้นไปถือกำไว้ในอุ้งมือแล้วก็เอามือไขว้หลังเดินไปบนคันสระลูกใหญ่ในวัดหนองโพ เอามือที่ถือก้อนทองเดาะเล่นกับอุ้งมือ ๒ - ๓ ครั้ง แล้วก็ขว้างก้อนทองนั้นลงสระน้ำไป พอเดินกลับมาถึงที่ถลุงทอง หลวงพ่อก็หยิบฆ้อนทุบเตา ทุบเบ้าถลุงแตกหมด แล้วก็เลิกเล่นเลิกทำแต่วันนั้นมา

รับสมณศักดิ์

ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ เมื่อพระครูพยุหานุศาสก์ (สิทธิ์) วัดบ้านบน เจ้าคณะแขวงอำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ มรณภาพลง เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ ศ. ๒๔๕๗ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ “ให้เจ้าอธิการเดิม วัดหนองโพ เป็นพระครูนิวาสธรรมขันธ์ รองเจ้าคณะแขวงเมืองนครสวรรค์) (๓) เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ เนื่องในงานเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ ๖ เวลานั้นหลวงพ่อมีอายุได้ ๕๕ ปี และมีพรรษา ๓๔ พรรษา ทั้งนี้ย่อมนำความปีติมาให้แก่บรรดาศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อเป็นอันมาก แต่ก็ยังพากันเรียกท่านด้วยความเคารพนับถือทั้งต่อหน้าและลับหลังว่าหลวงพ่อ อยู่อย่างนั้น เว้นแต่ศิษย์รุ่นผู้ใหญ่ จึงมักใช้สรรพนามเรียกหลวงพ่อว่า “ทาน” ส่วนประชาชนทั่วไปนั้นคงรู้จักกันแพร่หลาย โดยนามว่า “หลวงพ่อเดิม”

---------------------------------------------

(๓.) ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๑ น ๒๓๔๒ ลงวันที่ ๑๐ มกราคม พ ศ. ๒๔๕๗ เดี๋ยวนี้เรียกเจ้าคณะแขวงว่า เจ้าคณะอำเภอ

ต่อมาทางการคณะสงฆ์ได้แต่งตั้งหลวงพ่อเป็นเจ้าคณะแขวงอำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ และหลวงพ่อได้รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌายะ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒ หลวงพ่อก็ได้ปฏิบัติศาสนกิจในหน้าที่นั้นมาด้วยความเรียบร้อยตลอดเวลากว่า ๒๐ ปี เมื่อท่านล่วงเข้าวัยชรามากแล้ว ทางการคณะสงฆ์จึงได้เลื่อนหลวงพ่อขึ้นเป็นตำแหน่งกิตติมศักดิ์

สร้างถาวรวัตถุในวัด



ศาลาการเปรียญหลังแรก หลวงพ่อเดิมสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔

หลวงพ่อมีนิสัยและมีฝีมือในการสร้าง ซึ่งหลวงพ่อได้ก่อสร้างสิ่งที่เป็นถาวรวัตถุในพระพุทธศาสนา และที่เป็นสาธารณประโยชน์อื่นๆ ไว้มากมาย เมื่ออุปสมบทแล้วมาอยู่จำพรรษาในวัดหนองโพ ในพรรษาแรก ๆ นั้น หลวงพ่อก็เริ่มสร้างศาลาการเปรียญขึ้นในวัดหนองโพ แล้วเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ หลวงพ่อก็ปฏิสังขรณ์แก้ขยายขึ้นจากหลังที่หลวงพ่อสร้างไว้แต่ก่อนนั้นอีก

ก่อนหน้านั้น เมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๓๕ หลวงพ่อได้สร้างกุฏิขึ้นใหม่ในวัดหลังหนึ่งเป็นกุฏิหลังแรกที่ใช้ฝาไม้กระดาน และชื้อมาจากบ้านบางไก่เถื่อน (ตำบลบ้านตลุก อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท) เมื่อสร้างศาลาและกุฏิขึ้นใหม่ในวัดหนองโพครั้งนั้นบรรดาท่านผู้เฒ่าผู้แก่ปู่ย่าตายายของชาวบ้านหนองโพซึ่งมีชีวิตอยู่ในสมัยนั้น ต่างออกปากชมกันว่า “ท่านองค์นี้ไม่ใช่ใครอื่นแล้ว คือหลวงพ่อเฒ่าเจ้าของวัดของท่านมาเกิด”

ศาลาการเปรียญหลังแรก หลวงพ่อเดิมสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔

นอกจากศาลาการเปรียญและหมู่กุฏิ หลวงพ่อได้ร่วมกับทายกทายิกาชาวบ้าน สร้างโรงอุโบสถขึ้นในที่โรงอุโบสถเดิม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ และในคราวเดียวกันได้สร้างพระเจดีย์ ๓ องค์ มีกำแพงแก้วล้อมรอบไว้ตรงหน้าโรงพระอุโบสถด้วย

นิสัยชอบก่อสร้างของหลวงพ่อนั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นชีวิตจิตใจของหลวงพ่อติดต่อมาจนตลอดชีวิตโดยเหตุที่วัดวาอารามตามท้องถิ่นในสมัยนั้น มักมีแต่กุฏิสงฆ์และมีแต่ศาลาดิน คือใช้พื้นดินนั้นเองเป็นพื้นศาลา หลังคาก็มุงแฝก ไม่มีโบสถ์ หลวงพ่อจึงสร้างศาลาการเปรียญ เป็นศาลายกพื้น หลังคามุงกระเบื้อง และสร้างโรงอุโบสถก่ออิฐถือปูนและคอนกรีต ขึ้นเป็นถาวรวัตถุของวัด

โบสถ์และศาลาการเปรียญที่หลวงพ่อสร้างขึ้น มักจะกว้างขวางใหญ่โตสำหรับท้องถิ่น จึงต้องใช้เงินทองและสิ่งของเครื่องใช้ในการก่อสร้างมาก วัตถุปัจจัยหรือเงินทองที่มีผู้ถวายหลวงพ่อเนื่องในกิจนิมนต์ก็ดี หรือถวายด้วยมีศรัทธาเลื่อมใสในตัวหลวงพ่อเองก็ดี หลวงพ่อมิได้เก็บสะสมไว้ หากแต่ได้ใช้จ่ายไปในการทำสาธารณประโยชน์และใช้เป็นทุนรอนในการก่อสร้างถาวรวัตถุในพระพุทธศาสนาและสถานศึกษาเล่าเรียน จนหมดสิ้น

เห็นจะเป็นเพราะเหตุนี้ และเนื่องจากกิตติคุณทางวิทยาอาคมของหลวงพ่อด้วย จึงมักมีพวกทายกทายิกาช่วยกันเรี่ยไรรวบรวมทุนถวายให้หลวงพ่อทำการก่อสร้างอยู่เนือง ๆ วัดในตำบลใดต้องการจะสร้างหรือปฏิสังขรณ์โบสถ์วิหารหรือศาลาการเปรียญ ขึ้นเป็นถาวรวัตถุในวัด หรือเริ่มก่อสร้างปฏิสังขรณ์กันไว้แล้ว แต่ทำไม่เสร็จ เพราะขาดช่างและขาดทุนรอน ขาวบ้านสมภารวัดในตำบลนั้นๆ ก็มักพากันมานิมนต์หลวงพ่อ ให้ไปช่วยอำนวยการสร้าง หรือไปเป็นประธานในงานก่อสร้างปฏิสังขรณ์ หลวงพ่อก็ยินดีไปตามคำนิมนต์

และมิใช่แต่จะไปบงการให้คนอื่นทำเท่านั้น แต่หลวงพ่อได้ลงมือทำด้วยตนเองด้วย เช่น ถ้าเป็นเครื่องไม้ก็ลงมือกะตัวไม้ และถากไม้ฟันไม้ เลื่อยไม้ ด้วยตนเอง ถ้าเป็นเครื่องปูน ก็ลงมือตัดและผูกเหล็กโครงร่าง และผสมทรายผสมปูนเทหล่อด้วยตนเอง จนเป็นเหตุให้คนอื่นนั่งเฉยอยู่ไม่ได้ ทั้งชาวบ้านและชาววัดต่างก็พากันลงมือทำงานช่วยหลวงพ่อ บางรายหลวงพ่อก็ทำตั้งแต่ตัดไม้ ชักลาก ทำอิฐและเผาอิฐ เผาปูนมาทีเดียว ยิ่งเป็นการก่อสร้างในบ้านป่าขาดอนซึ่งห่างไกลเส้นทางคมนาคม กำลังผู้คนและพาหนะก็เป็นของจำเป็นยิ่งนัก แต่หลวงพ่อก็จัดสร้างให้สำเร็จจนได้

คิดดูก็เป็นของน่าประหลาด ดูหลวงพ่อช่างมีอภินิหารในการก่อสร้างเสียจริง ๆ โบสถ์วิหารหรือศาลาการเปรียญ ที่หลวงพ่อไปอำนวยการก่อสร้างปฏิสังขรณ์ หรือไปเป็นประธานในงานก่อสร้างหรือปฏิสังขรณ์นั้นๆ ย่อมสำเร็จเรียบร้อยทุกแห่ง ทุนรอนที่ขาดอยู่มากน้อยเท่าใด ก็มักมีผู้ศรัทธาบริจาคถวายให้จนครบ หรือบางแห่งบางรายก็เกินกว่าจำนวนที่ต้องการเสียอีก เมื่อเห็นมีคนชอบเอาเงินทองมาถวายหลวงพ่อเนือง ๆ และบางรายก็ถวายไว้มาก ๆ เสียด้วย

ผู้เขียนเคยกราบเรียนถามว่า “หลวงพ่อทำอย่างไรจึงมีคนชอบนำเงินมาถวายเนือง ๆ ?”

หลวงพ่อก็ยิ้มแล้วตอบว่า “ก็เราไม่เอานะสิ เขาจึงชอบให้ ถ้าเราอยากได้ใครเขาจะให้”

บรรดาศิษย์รุ่นเก่า ซึ่งเคยติดลอยห้อยตามหลวงพ่อมาหลายสิบปี เช่น นายยิ้ม ศรีเดช มรรคนายกวัดหนองโพ ซึ่งเวลานั้นมีอายุกว่า ๘๐ ปี (บัดนี้ล่วงลับไปแล้ว) เคยปรารภว่า “เงินทองสัมผัสแต่เพียงตาของหลวงพ่อ ไม่กระทบเข้าไปถึงใจ”

เงินทองที่มีผู้ถวายมากมายเท่าใดหลวงพ่อก็ใช้จ่ายไปในการก่อสร้างและทำสิ่งสาธารณประโยชน์ หมดสิ้น

สิ่งก่อสร้างที่หลวงพ่ออำนวยการสร้าง หรือเป็นประธานในการก่อสร้าง และมีถาวรวัตถุเป็นพยานให้เห็นมากมายหลายแห่ง จนหลวงพ่อเองก็จำสถานที่และลำดับรายการไม่ได้ นอกจากจะมีใครถามขึ้น บางทีหลวงพ่อก็นึกได้สิ่งก่อสร้างและถาวรวัตถุที่หลวงพ่อสร้างขึ้นนี้ เห็นได้ว่าหลวงพ่อได้สร้างความเจริญให้เกิดขึ้นแก่ท้องถิ่นเหล่านั้น เพราะเท่ากับทำบ้านและตำบลนั้น ๆ ให้ตั้งอยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง และมีถาวรวัตถุเป็นหลักฐานของหมู่บ้าน ซึ่งจะเป็นพยานยั่งยืนมั่นคงไปชั่วกาลนาน

ปรับปรุงบ้านและวัดหนองโพ

หลวงพ่อคงจะได้คิดที่จะปรับปรุงฟื้นฟูสภาพและความเป็นอยู่ของบ้านและวัดหนองโพมานาน อย่างน้อยก็ตั้งแต่เริ่มอุปสมบท ดังจะเห็นได้ในตอนต้น ซึ่งพออุปสมบทแล้ว หลวงพ่อก็เริ่มสร้างศาลาการเปรียญ และต่อมาก็สร้างกุฏิฝาไม้กระดานขึ้น เมื่อปีมะโรง พ ค ๒๔๓๕ ตรงที่ซึ่งเป็นบริเวณกุฏิสมภารในบัดนี้

ท่านผู้อ่านย่อมจะทราบได้ดีว่าบ้านและวัดหนองโพตั้งอยู่ในที่ดอนและห่างจากลำน้ำเจ้าพระยา ในฤดูฝน ได้อาศัยน้ำฝนที่ตกขังอยู่ แต่ในฤดูแล้งมักจะกันดารน้ำแทบทุกปี ถ้าปีใดฝนตกล่าไปจนถึงปลายเดือน ๖ เดือน ๗ ก็อดน้ำ หลวงพ่อได้ขุดขยายสระน้ำในวัดให้ลึกและกว้างขึ้น แต่ประชาชนชาวบ้านก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น หลวงพ่อจึงพยายามขยายสระน้ำให้ลึกและใหญ่กว้างอีกหลายครั้ง

อีกอย่างหนึ่ง โดยเหตุที่แต่เดิมมา บ้านหนองโพตั้งอยู่ห่างไกลจากเส้นทางคมนาคม อันจะนำเอาความเจริญแบบต่าง ๆ มาสู่ท้องถิ่น ความเจริญแบบใหม่จึงเดินทางเข้าไม่ค่อยถึงหมู่บ้าน และเป็นไปอย่างเชื่องช้ามาก แม้เมื่อมีทางรถไฟสายเหนือผ่านไป และตั้งสถานีรถไฟที่ อ สถานีหนองโพ (๔) ณ ตำบลนั้น ก็คงห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๑ กิโลเมตร

-----------------------------------------

(๔.) สถานีหนองโพ ตั้งอยู่หลักกิโลเมตรที่ ๒๑๑ จากกรุงเทพฯ

แม้กระนั้น ก็ด้วยบารมีของหลวงพ่อ ทำให้มีผู้คนในท้องถิ่นต่าง ๆ ที่ห่างไกล อุตสาหะทรมานกายไปมาหาสู่หลวงพ่อจนถึงวัดเนือง ๆ เจ้านายที่เคยเสด็จไปหาหลวงพ่อถึงวัดก็มี อาทิเช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอลงกต กรมหมื่นอดิศรอุดมศักดิ์ องคมนตรี ซึ่งเสด็จล่วงลับไปแล้ว

ต่อมาหลวงพ่อได้พยายามสร้างถนนจากที่ตั้งสถานีรถไฟ ตัดตรงเข้าไปในหมู่บ้าน เมื่อตัดสร้างถนนตอนแรกนั้น ถ้ายืนอยู่ที่สถานีหนองโพจะมองไปเห็นโบสถ์ในวัดหนองโพตั้งอยู่ลิบ ๆ และเมื่อยืนอยู่ที่ลานหน้าโบสถ์ในวัดก็มองเห็นโรงสถานีรถไฟบ้านหนองโพได้เช่นกัน ทำให้การคมนาคมระหว่างหมู่บ้านกับรถไฟสะดวกสบายเป็นอันมาก แต่ถนนที่หลวงพ่อสร้างขึ้นไว้นั้น เป็นแต่ขุดคูพูนดินให้นั้นขึ้นเป็นทางเดิน มิได้ลงหินราดบดโรยลูกรัง เช่นถนนที่สร้างกันในสมัยนี้ และขาดการซ่อมแซมในระยะติดต่อกันมา เมื่อใช้มาหลายปีถูกน้ำฝนเซาะบ้าง สัตว์พาหนะเดินบ้าง ภายหลังเป็นถนนที่ขาดเป็นตอน ๆ และบางตอนก็มีต้นไม้ขึ้นจนเติบโตบังทิวทัศน์ที่จะมองเห็นกันได้ระหว่างตัวสถานีรถไฟกับวัดเช่นแต่ก่อน

หลวงพ่อได้ดำริที่จะซ่อมแซมถนนสายนี้เป็นทางคมนาคมที่ดี และสะดวกสบายแก่การสัญจรไปมา แต่เนื่องจากมีภาระในงานก่อสร้างอย่างอื่น จึงมิทันได้ลงมือทำก็มาถึงแก่มรณภาพไปเสียก่อน ปัญหาเรื่องถนนสายนี้จึงยังคงค้างมาจนถึงสมัยหลวงพ่อน้อย (พระครูนิพนธ์ธรรมคุต) เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองโพ และดำเนินงานพัฒนาโดยการร่วมริเริ่มของบรรดาลูกชาวบ้านหนองโพ ติดต่อชักจูงทางการให้ตัดถนนแยกจากทางหลวงสายเอเซีย ณ จุดใกล้กิโลเมตรที่ ๑๙๐ - ๑๙๑ ผ่านเข้าไปถึงหมู่บ้านหนองโพ และเลยไปถึงสถานีรถไฟหนองโพแล้ว (ดู - หน้า ๔๖)

จัดการศึกษา

เมื่อนึกถึงสภาพของบ้านและวัดหนองโพแต่เดิมซึ่งเคยเป็นบ้านป่าขาดอนและตั้งอยู่ห่างไกลความเจริญ แต่ที่มามีความเจริญก้าวหน้าเทียมทันกับตำบลบ้านใกล้เคียงซึ่งอยู่ในเส้นทางคมนาคมเช่นที่เป็นอยู่ ก็อาจกล่าวได้โดยไม่ผิดพลาดว่า เจริญมาด้วยบารมีของหลวงพ่อ หลวงพ่อได้พยายามปรับปรุงสภาพของวัดและบ้านหนองโพให้ได้รับความเจริญอย่างใหม่ โดยจัดสร้างโรงเรียนขึ้นในวัด และหาครูมาสอนเป็นประจำ ทำนองโรงเรียนเทศบาลเดี๋ยวนี้

หลวงพ่อเป็นคนจัดหาเงินเดือนค่าสอนให้แก่ครูเอง โรงเรียนหลังแรกสร้างขึ้นในลานวัด เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของวัด ครูที่สอนชุดแรกก็มี พระปลัดห่วง อนุวัตร (เป็นชาวบ้านเขาพนมรอก อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ ภายหลังลาสิกขาแล้วกลับไปอยู่ภูมิลำเนาเดิม)(๕) เป็นหัวหน้ามีครูเพ็ชร ครูคง และครูเกษม เป็นครูผู้ช่วย ต่อมา คือ ครูสวัสดิ์ (มักเป็นลมบ้าหมูบ่อย ๆ )

-----------------------------------------

(๕.) ปลัดห่วง เป็นพี่ชายพระครูนิพนธ์ธรรมคุต (คล้าย คำประกอบ) เจ้าคณะอำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์

โรงหลังคาสังกะสีและเสาไม้ คือโครงโรงเรียนวัดหนองโพหลังแรก
สร้างเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๕๑ ในรูปนี้ปรับปรุงใช้เป็นโรงตักข้าว
ใส่บาตรถวายพระ (ร้านบาตร) ปัจจุบันรื้อไปแล้ว

เมื่อมีนักเรียนมากขึ้นหลวงพ่อจึงสร้างตัวโรงเรียนขึ้นใหม่ ตั้งอยู่ระหว่างโบสถ์และสระน้ำลูกเหนือ (สระบัว) ครูที่สอนโรงเรียนในระยะนี้ก็มี ครูนิ่ม ขวัญเมือง และครูถมยา พวงสมบัติ ส่วนตัวโรงเรียนหลังเก่า ก็ย้ายมาปลูกเป็นหลังคาของร้านใส่บาตรสำหรับชาวบ้านมาร่วมตักบาตรทำบุญในวัด ภายหลังได้รื้อออกไปแล้ว

ครั้นต่อมาทางการจัดตั้งเป็นโรงเรียนประชาบาลประจำตำบลหนองโพขึ้น หลวงพ่อได้สร้างตัวโรงเรียนให้ใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของวัด พร้อมทั้งได้สร้างบ้านพักให้พวกครู ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัดอีกด้วย แล้วต่อมาได้ย้ายโรงเรียนไปตั้งทางตะวันออกของวัด ปัจจุบันเรียกชื่อว่า โรงเรียนวัดหนองโพนิวาสานุสรณ์ เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงหลวงพ่อเดิม (พระครูนิวาสธรรมขันธ์)

จัดการศึกษาด้านศิลป

เมื่อหลวงพ่อตั้งโรงเรียนสำหรับให้กุลบุตรกุลธิดาได้เล่าเรียนหนังสือกันในตอนแรกๆ นั้น หลวงพ่อก็หาวิธีให้เด็กได้ศึกษาเล่าเรียนความรู้อย่างอื่นด้วย เช่น สร้างสำนักขึ้นสอนดนตรีปี่พาทย์ คราวแรกหลวงพ่อเป็นแต่ทดลองโดยเข้าหุ้นส่วนกับนายนิลไปซื้อเครื่องปี่พาทย์มาแล้วหาคนไปให้นายนิลช่วยฝึกหัด แต่นายนิลจะทำไม่สำเร็จอย่างไรไม่ทราบ หลวงพ่อจึงย้ายมาร่วมมือกับนายพวง แต่ในตอนนั้นยังคงให้หัดและสอนกันในบ้าน ภายหลังย้ายมาตั้งฝึกสอนในวัดแล้วจ้างครูมาสอนประจำ

ตั้งวงยี่เกขึ้นหาคนมาหัดเป็นประจำ และครูหัดยี่เกคนแรก คือ ครูปุ่น เป็นคนชาวบ้านพยุหะแด่น เป็นครูควบคุมและฝึกรำ ส่วนแง่คิดในการเล่นการแสดงเป็นของหลวงพ่อ ศิษย์หัดยี่เกรุ่นแรกครั้งนั้นต่างก็ล้มหายตายจากไปนานแล้ว

ครูยี่เกคนต่อมาก็คือ ครูโชติ แล้วมาครูวิง และต่อมาก็คือ ครูทองคำ (นิ้วด้วน) ได้ตั้งแตรวงขึ้นคราวหนึ่ง มีครูบุญเหลือเป็นผู้หัด แต่มิช้าก็เลิกเสียเพราะครูบุญเหลือลาออกไปและหาครูคนอื่นมาสอนสืบต่อไม่ได้

ภายหลังได้สร้างเรือนให้พวกปี่พาทย์อยู่เป็นประจำเรียกกันว่า “โรงปี่พาทย์” ตั้งอยู่ริมรั้ววัดทิศเหนือ ครูปี่พาทย์คนแรกก็คือ ครูอุ้ย แล้วต่อมาก็คือครูพุฒ (เรียกกันว่าพุฒหน้าดำ หรือ พุฒทศกัณฐ์) ต่อมาครูแย้ม (ตาบอดทั้งสองข้าง)

เครื่องปี่พาทย์หลวงพ่อก็สร้างเอง เว้นแต่เครื่องโลหะ เช่น ฆ้องโหม่งและฆ้องวง ส่วนระนาดทั้งไม้ทั้งเหล็กและกลองนั้น หลวงพ่อลงมือทำเอง เหลาลูกระนาดไม้และลูกระนาดเหล็กเองโดยมีพวกพระภิกษุในวัดซึ่งเป็นศิษย์เป็นผู้ช่วย สามารถทำได้ประณีตประกับรางเลี่ยมงาเลี่ยมมุกและเลี่ยมโลหะได้งดงาม กลองก็ขุดและกลึงเอง ขึงหน้าขึ้นกลองเอง ตอกหมุดเอง หมุดกลองนั้นใช้ทำด้วยกระดูกควาย กระดูกช้าง หรือแก่นไม้แสมสาร เมื่อผู้เขียนเป็นเด็กวัดก็ได้เคยเป็นลูกมือศิลปกรรมด้านนี้ของหลวงพ่อด้วย

วัดหนองโพชึ่งเคยเป็นสำนักศึกษาตามแบบโบราณมาแต่สมัยหลวงพ่อเฒ่า และนับแต่หลวงพ่อเฒ่าได้ล่วงลับไปแล้ว ก็เสื่อมโทรมลงโดยลำดับ ครั้นต่อมาถึงสมัยหลวงพ่อเดิม ท่านได้พยายามปรับปรุงการศึกษาของวัดและความเป็นไปของหมู่บ้านขึ้นใหม่ ในระยะเมื่อราว ๘๐ - ๑๐๐ ปีมาแล้วนี้ วัดหนองโพจึงกลับเป็นสำนักศึกษาศิลปวิทยาการที่สำคัญขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง

พวกเด็กในบ้านหนองโพและตลอดไปถึงตำบลอื่นๆ ใครอยากเรียนหนังสือก็มาเข้าโรงเรียน ใครอยากหัดปี่พาทย์ระนาดฆ้อง ก็ไปหัดปี่พาทย์ระนาดฆ้อง ใครอยากหัดยี่เก ก็ไปหัดยี่เก ถ้าไม่ชอบเรียน ชอบหัดดังกล่าวแล้ว ก็ไปเลี้ยงช้างเลี้ยงม้า เพราะหลวงพ่อมีช้างหลายเชือกและมีม้าหลายตัว

หลวงพ่อพยายามนำความเจริญแทบทุกทางมาสู่หมู่บ้านหนองโพ เสมือนจะสร้างบ้านให้เป็นเมือง

ผู้เคยศึกษาในโรงเรียนวัดหนองโพ

ผู้ที่เคยได้รับการศึกษาในวัดหนองโพในสมัยหลวงพ่อเดิมปรับปรุงการศึกษา แล้วมาเล่าเรียนศึกษาต่อและทำการงานอาชีพเจริญก้าวหน้า ที่ควรกล่าวถึงในเวลานี้ ก็มี

ท่านพระครูนิพนธ์ธรรมคุต (น้อย เตชปุญฺโญ) พระครูสัญญาบัตรชั้นเอก เจ้าอาวาสและเจ้าคณะตำบลหนองโพ

พระครูนิวาสธรรมโกวิท (ประเทือง อินฺทวีโร น ธ เอก, ปธ ๖)

นายธนิต อยู่โพธิ์ เปรียญ ๙ ประโยค สำนักวัดมหาธาตุ พ.ศ.๒๔๗๕ และอธิบดีกรมศิลปากร พ.ศ.๒๔๙๙- ๒๕๑๑

นายเจริญ อินทรเกษตร เปรียญ ๙ ประโยค สำนักวัดมหาธาตุ ธ บ วิทยากรพิเศษราชบัณฑิตยสถาน

นายเรียม เกษสาคร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ๒๕๒๑ - ๒๕๒๓

พลโท สนั่น ขจรกล่ำ

นายเยี่ยม อยู่โพธิ์ ผู้ตรวจการพาณิชย์ สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

นายสมพร อยู่โพธิ์ ภัณฑารักษ์เอก กรมศิลปากร

นายเปรียบ อยู่โพธิ์ ผู้ช่วยตรวจราชการเอก สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

และที่เป็นพ่อค้าคหบดีผู้มีชื่อเสียงก็มี เช่น นางแก้ว พงศ์ธรานนท์ นางกิมฮวย ลี้ตระกูล นายสง่า สุสมบูรณ์ นางวรรณี สุสมบูรณ์ และนายณรงค์ โพธิวาสวารินทร์ กำนันตำบลหนองโพ เป็นต้น

ปลายชีวิตของหลวงพ่อเดิม

หลวงพ่อเป็นเสมือนต้นโพธิและต้นไทรที่มีกิ่งก้านสาขาแผ่ออกไปอย่างไพศาลเป็นที่พึ่งพาอาศัยของประชาชนไม่เลือกหน้า เนื่องจากหลวงพ่อมีอายุยืนยาวมาก บรรดาศิษยานุศิษย์รุ่นผู้ใหญ่ซึ่งเคยติดสอยห้อยตามและร่วมงานร่วมการกันมา ก็ล้มหายตายจากไปก่อนหลวงพ่อเกือบหมดถ้าว่ากันอย่างฆราวาส ก็น่าจะทำให้หลวงพ่อว้าเหว่มาก

ครั้นต่อมาราว ๑๐ กว่าปี ก่อนหลวงพ่อมรณภาพ ร่างกายของหลวงพ่อ ซึ่งใช้กรากกรำทำสาธารณประโยชน์มาช้านานหลายสิบปี ก็ทรุดโทรมจนแข้งขาเดินไม่ได้ จะลุกนั่งก็ต้องมีคนพยุง จะเดินทางไปไหนก็ต้องขึ้นคานหาม หรือขึ้นเกวียนไป

แม้กระนั้น ก็ยังมีผู้เลื่อมใสศรัทธามานิมนต์หลวงพ่อไปในงานการบุญกุศลเนือง ๆ เพราะหลวงพ่อมีศิษยานุศิษย์มาก ทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อยแทบทั่วบ้านทั่วเมือง หลวงพ่อปรารภว่าถ้าท่านแตกดับลง บรรดาหลานเหลนและศิษยานุศิษย์ในตำบลหนองโพและหมู่บ้านใกล้เคียง จะได้รับความลำบาก หลวงพ่อจึงได้ปรารภถึงความตายให้เห็นประจักษ์ สิ่งใดควรจัดทำขึ้นไว้ได้ก่อนท่านแตกดับ หลวงพ่อก็ให้จัดทำเตรียมไว้ เช่น สร้างหีบบรรจุศพของท่านเองและให้ก่อสร้างตัวเมรุที่เผาศพของท่านไว้ด้วย แต่บังเอิญตัวเมรุนั้นทำล่าช้ามาก ยังมิทันเสร็จ จนหลวงพ่อมรณภาพแล้ว

แม้แข้งขาของหลวงพ่อจะทานน้ำหนักตัวของท่านเองไม่ได้แล้ว หูก็ตึงไปบ้าง แต่นัยน์ตายังแจ่มใสดี มือก็ยังลงเลขยันต์ได้ตามเคย ปากก็ยังเสกเป่าและเจรจาปราศรัยได้ โดยมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ดีตลอดมา

ภายหลังที่หลวงพ่อกลับจากไปเป็นประธานในงานก่อสร้างโบสถ์ในวัดอินทาราม (วัดใน) ตำบลพยุหะ อำเภอพยุหะดีรี จังหวัดนครสวรรค์ และกลับมาอยู่ในวัดหนองโพแล้ว ต่อมาหลวงพ่อก็เริ่มอาพาธ ตั้งแต่วันอังคาร ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๖ (ตรงกับวันที่ ๑๕ พฤษภาคม) พ.ศ. ๒๔๙๔ อาการทรุดลงเป็นลำดับมา จนถึงวันอังคาร แรม ๒ ค่ำ เดือนเดียวกัน วันที่ ๒๒ พฤษภาคม) อาการก็เพียบหนักขึ้น บรรดาศิษยานุศิษย์และหลานเหลนต่างพากันมาห้อมล้อมพยาบาลและฟังอาการกันเนื่องแน่น ด้วยความเศร้าโศกห่วงใย เล่ากันว่า

“ครั้นตกบ่ายในวันนั้น หลวงพ่อก็คอยแต่สอบถามอยู่วา ‘เวลาเท่าใดแล้ว ๆ’ ศิษย์ผู้พยาบาลก็กราบเรียนตอบไปๆ จนถึงราว ๑๗ ๐๐ น หลวงพ่อจึงถามว่า ‘น้ำในสระมีพอกินกันหรือ’ (เพราะบ้านหนองโพมักกันดารน้ำดังกล่าวแล้ว) ศิษย์ที่พยาบาลอยู่ ก็เรียนตอบว่า ‘ถ้าฝนไม่ตกภายใน ๖ - ๗ วันนี้ ก็น่ากลัวจะถึงกับอัตคัดน้ำ’ หลวงพ่อก็นิ่งสงบไม่ถามว่ากระไรต่อไปอีก ในทันใดนั้นกลุ่มเมฆก็ตั้งเค้ามาและฟ้าคะนอง มิช้าฝนก็ตกห่าใหญ่ น้ำฝนไหลลงสระราวครึ่งค่อนสระ พอฝนขาดเม็ด หลวงพ่อก็สิ้นลมหายใจ เมื่อเวลา ๑๗ ๔๕ น คำนวณอายุได้ ๙๒ โดยปี สรรวมแต่อุปสมบทมาได้ ๗๑ พรรษา

บรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ได้ช่วยกันสรงน้ำศพหลวงพ่อ แล้วบรรจุศพ ตั้งบำเพ็ญกุศล ณ วัดหนองโพ ตั้งแต่วันรุ่งขึ้น เว้นที่ ๒๓ พฤษภาคม) ติดต่อมาครบ ๗ วัน เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม แล้วก็ทำติดต่อมาอีกและทำบุญครบ ๕๐ วัน เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ทำบุญครบ ๑๐๐ วัน เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๔๙๔ จึงเก็บศพหลวงพ่อรอไว้ จนถึงเวลาจัดการพระราชทานเพลิง

หลวงพ่อเดิม ผู้ซึ่งได้รับการขนานนามและยกย่องเป็น “เทพเจ้าแห่งเมืองสี่แคว” ซึ่งชาวนครสวรรค์ทุกคนยังเคารพให้ความนับถือหลวงพ่ออยู่เสมอ โดยเฉพาะทางวัดหนองโพได้สร้างมณฑปที่ประดิษฐานรูปหล่อโลหะของหลวงพ่อพระรูปเหมือนหลวงพ่อเดิม ขนาดเท่าองค์จริง ซึ่งหลวงพ่อเดิมท่านหล่อสร้างไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ซึ่งตั้งประดิษฐานอยู่ที่มณฑป ซึ่งมีประชาชนมากราบนมัสการทุกวันมิได้ขาด และทางวัดหนองโพได้จัดงานทำบุญประจำปีปิดทอง ไหว้พระรูปเหมือนหลวงพ่อเดิม ในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี


ข้อมูลเพิ่มเติม 4 - 27 ก.พ. 2562 - 20:25:33 น.

ขนาดฐานกว้าง 2เซนติเมตร

ขนาดฐานกว้าง 2เซนติเมตร

ขนาดฐานกว้าง 2เซนติเมตร

ขนาดฐานกว้าง 2เซนติเมตร

ขนาดฐานกว้าง 2เซนติเมตร


 
ราคาปัจจุบัน :     8,110 บาท
เพิ่มขึ้นครั้งละ :     10 บาท

!!! ปิดประมูลแล้ว !!!

ผู้ชนะประมูล    richy009 (267)

 

Copyright ©G-PRA.COM